KEY :
- อธิบดีกรมโรงงานฯ เร่งออกมาตรการฉุกเฉิน เตรียมออกเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตการนำเข้าโพแทสเซียมไซยาไนด์ ป้องกันการใช้งานผิดวัตถุประสงค์
- ระบุ ผู้ครอบครองปริมาณตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไปต้องรายงานปริมาณการใช้ การจำหน่าย ปริมาณคงเหลือ เป็นประจำทุก 6 เดือน
- พร้อมกำหนดมาตรการเร่งด่วน ทั้งการยื่นข้อมูลผู้ใช้ / การแจ้งข้อเท็จจริงก่อนการนำเข้าทุกครั้ง / ให้ผู้จำหน่าย-ผู้ใช้ รายงานปริมาณทุก 3 เดือน / ควบคุมไม่ให้มีการโฆษณาและจำหน่ายสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ออนไลน์ทุกประเภท
…
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สารโพแทสเซียมไซยาไนด์จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หากมีการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน มีไว้ในครอบครอง จะต้องมีการขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตตามลำดับ
โดยในการพิจารณาอนุญาตจะมุ่งเน้นให้เกิดความปลอดภัยของสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจำหน่ายและการนำไปใช้ต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ตามวัตถุประสงค์ที่ปรากฏในใบสำคัญการขึ้นทะเบียนฯ ทั้งนี้ กรณีการใช้สอยส่วนบุคคล หรือใช้เพื่อการอุตสาหกรรม และกรณีร้านค้าปลีกที่มีการเก็บวัตถุอันตรายทุกชนิดรวมกันไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตครอบครอง
สำหรับการกำกับดูแลโพแทสเซียมไซยาไนด์ ผู้ครอบครองปริมาณตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไปต้องรายงานปริมาณการใช้ การจำหน่าย ปริมาณคงเหลือ เป็นประจำทุก 6 เดือน
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเร่งพิจารณากฎหมายเพื่อหาทางยกระดับการกำกับดูแลโพแทสเซียมไซยาไนด์ให้เข้มยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยจะกำหนดมาตรการเร่งด่วน ดังนี้
- 1. ให้มีการยื่นข้อมูลผู้ใช้ (End User) ประกอบการพิจารณาอนุญาต และจะกำหนดให้อายุใบอนุญาตนำเข้าเป็นระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี
- 2. การแจ้งข้อเท็จจริงก่อนการนำเข้าทุกครั้งจะต้องมาดำเนินการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่สามารถดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
- 3. ให้ผู้จำหน่าย (Trader) และผู้ใช้ (End User) ต้องมีการรายงานข้อมูลการครอบครองทุกปริมาณทุก 3 เดือน
- 4. ขอความร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อควบคุมไม่ให้มีการโฆษณาและจำหน่ายสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ ในแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าออนไลน์ทุกประเภท