คัดลอก URL แล้ว
คดี “แอม ไซยาไนด์” ออกหมายจับแล้ว 14 คดี โอนทุกคดีมาที่กองปราบ

คดี “แอม ไซยาไนด์” ออกหมายจับแล้ว 14 คดี โอนทุกคดีมาที่กองปราบ

KEY :

วานนี้ (3 พ.ค.66) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ร่วมกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. นำแถลงผลการประชุมความคืบหน้าคดีที่ นางสาวแอม ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆ่าวางยาไซยาไนด์ ฆ่าผู้อื่นเสียชีวิต

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ เปิดเผยว่า คดีนี้พบความเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตทั้งหมด 14 คดี รอดชีวิต 1 คดี ออกหมายจับไปแล้ว 14 คดี เหลืออีก 1 คดีคือพื้นที่ สน.ทองหล่อ ซึ่งรายละเอียดใกล้เรียบร้อยแล้ว ยังเหลือต้องสงสัยอีก 2-3 คดี คือกรณีการเสียชีวิตเมื่อปี 2566 และกรณีของรองสารวัตร สภ.ภูผาม่าน จว.ขอนแก่น

โดยที่ประชุมลงมติว่าให้โอนคดีทั้ง 15 คดี มาขึ้นอยู่ที่กองบังคับการปราบปราม มี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงานสืบสวนสอบสวน พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ภ.7 หัวหน้าส่วนสืบสวน ส่วนสำนวนจะดูแลอยู่ที่ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(ผบช.ก.) เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ส่วนพยานหลักฐานจะดูแลกำกับโดย พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยประดิษฐ์ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน

ผบ.ตร.กล่าวว่า การย้ายคดีมาที่กองบังคับปราบปราม จะอยู่ในอำนาจศาลอาญา ซึ่งง่ายต่อการทำคดี แม้จะโอนคดีมาแต่ยังทำงานร่วมกันกับหน่วยงานในพื้นที่ร่วมกับคณะพนักงานสอบสวนของ บช.ก.

สำหรับแนวทาง และขั้นตอนการทำงานเพื่อป้องกันเหตุลักษณะนี้ในอนาคตนั้น จะออกแนวทางให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบในคดีการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุซึ่งเชื่อว่าอาจใช้สารพิษ พนักงานสอบสวนจะไม่ทำงานโดยลำพัง ต้องให้ฝ่ายสืบสวนลงไปตรวจสอบด้วยตัวเอง ร่วมกับ พฐ. และตรวจที่สถาบันนิติเวชวิทยาตำรวจเป็นหลัก ทั้งเลือดและน้ำในกระเพาะ โดยประสานกับสาธารณสุข ในการทำงานร่วมกัน

ซึ่งการชันสูตรจะไม่ผลักดันภาระให้ญาติ กรณีมีเหตุอันควรสงสัยต้องชันสูตร รวมถึงการร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในการสอดส่องไม่ให้ครอบครองหรือจำหน่ายไซยาไนด์ในลักษณะสุ่มเสี่ยงที่จะใช้โดยผิดกฎหมายหรือนำไปทำร้ายผู้อื่น คาดว่ากรมฯ จะออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมไม่ให้ผู้ครอบครองนำไปใช้ในลักษณะนี้ และจะให้ตำรวจสอบสวนกลางช่วยสอดส่องอีกทางหนึ่ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง