การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค เผย กำลังศึกษาโครงสร้างค่าน้ำใหม่ ส่วนหนึ่งที่จะขอขึ้น มีการให้เหตุผลจากการประปานครหลวง ว่าไม่ได้ขึ้นค่าน้ำมา 23 ปี ส่วนการประปาส่วนภูมิภาคเอง ก็บอกว่าไม่ได้ขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว และต้นทุนก็สูงขึ้นมาก
ต้นทุนที่สูงขึ้น กปน. แจกแจงว่า
- ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรัฐบาลเรียกเก็บที่ราชพัสดุ กปน.ต้องเสีย 150 ล้านต่อปี จากเดิมไม่ต้องเสีย
- ค่าน้ำดิบจ่ายให้กับกรมชลประทานวันละ 3 ล้านบาท
- ค่าไฟเพิ่มขึ้น 20-30% หรือประมาณ 20 ล้านบาทต่อเดือน จากค่าเอฟทีของรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ปรับขึ้นกว่า 90 สตางค์
- ค่าธรรมเนียมการวางท่อเป็น 100 ล้านบาทต่อปี
และยังมีการใช้เงินลงทุนเพื่อขยายการผลิตไปกว่า 42000 ล้านบาท ดังนั้นการขึ้นค่าน้ำ จะช่วยบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้อีกทาง
ส่วน กปภ. บอกว่า ต้นทุนเพิ่ม 15-20% เช่นกัน ไม่ว่าจะค่าไฟ ค่าสารเคมี ที่ผ่านมาเคยขอขึ้น แต่ไม่ได้รับอนุมัติ
การทำโครงสร้างค่าน้ำใหม่เริ่มทำกันมาเป็นปีๆ แล้ว มีการทำประชาพิจารณ์ขอปรับอัตราใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา ค่าน้ำแต่ละพื้นที่คิดอัตราไม่เท่ากัน อย่างในพื้นที่ กปน. ประเภทที่พักอาศัย จะเริ่มคิดที่ 8.50 บาท และเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได ส่วน กปภ. ประเภทที่พักอาศัยเริ่มต้นที่หน่วยละ 10.20 บาท ยังไม่รวมค่าบริการ ค่าน้ำดิบ และค่าภาษี
แต่ถ้าขึ้นค่าน้ำแล้วจะกระทบหนักจริงๆ ก็คือภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในส่วน กปน. ที่เริ่มต้นหน่วยละ 16-18 บาท แล้วแต่พื้นที่ที่การประปาต้องลงทุนหาลุ่มน้ำ วางท่อจัดหาน้ำมาให้บริการเป็นต้น