นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ชี้แจงว่า ที่ค่าไฟฟ้าแพง เกิดจากปริมาณก๊าซในอ่าวไทยลดลง จาก 800 เหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือลดลง 20-30% จึงต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีที่มีราคาแพงมาผลิตไฟฟ้าทดแทน ส่วนต้นทุนอื่นที่วิจารณ์กัน อย่างเช่นถ่านหิน ไม่มีผลมากนัก เพราะราคาปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก ทำให้ค่าความพร้อมจ่าย ยังคงอยู่ระดับเดิม
ส่วนค่าไฟ งวดพฤษภาคม-สิงหาคมที่จะถึง ซึ่งอยู่ที่หน่วยละ 4.77 บาท หากดูตามลำดับต้นทุนแล้วจะพบว่า ส่วนที่แพงสุด คือ ค่าเชื้อเพลิงทุกประเภท เฉลี่ยหน่วยละ 2.74 บาท ตามด้วยค่าโรงไฟฟ้า 76 สตางค์ ค่าต้นทุนระบบจำหน่าย 51 สตางค์ ค่าภาระหนี้ กฟผ. 35 สตางค์ ค่าต้นทุนระบบส่ง 24 สตางค์ ค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น ค่าไฟฟรีแก่ผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 16 สตางค์
แต่ตอนนี้ ต้นทุนเชื้อเพลิงถูกลงแล้ว ค่าไฟก็ยังไม่ลดลง ซึ่งเลขาฯ กกพ. บอกว่า เป็นเพราะเกณฑ์คำนวณค่าเอฟที ใช้สมมติฐานตัวเลขต้นทุนของปี 65 มาประมาณการต้นทุนในงวดถัดไป ซึ่งช่วงนั้นราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่เมื่อราคาเชื้อเพลิงถูกลง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นก็จะถูกนำไปหักลบกลบหนี้ในค่าเอฟทีและค่าไฟในงวดต่อๆ ไป ทำให้ค่าไฟจะทยอยปรับลดลง