คัดลอก URL แล้ว
ศาลปกครองกลางฯ ชี้ กรมที่ดินละเลยปฏิบัติหน้าที่กรณี “เขากระโดง”

ศาลปกครองกลางฯ ชี้ กรมที่ดินละเลยปฏิบัติหน้าที่กรณี “เขากระโดง”

คดีนี้เขากระโดง (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องกรมที่ดิน(ผู้ถูกฟ้องคดีที่1)และอธิบดีกรมที่ดิน(ผู้ถูกฟ้องคดีที่2) กรณีวันที่ 23 มิถุนายน 2564 การรถไฟขอให้ตรวจสอบที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนในที่ดินบริเวณที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด โดยมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อทำการสอบข้อเท็จจริงในการออกหนังสือแสดงสิทธิทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี

ในพื้นที่บริเวณดังกล่าว และขอให้กรมที่ดิน ชดใช้ค่าเสียหายปีละ 707,595,034 บาท และค่าขาดประโยชน์รายเดือน เดือนละ 58,966,253บาท นับถัดจากวันฟ้อง
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรมที่ดิน มีภารกิจหน้าที่ในการคุ้มครอง ดูแลและรักษาที่ดินของรัฐทุกประเภท และ อธิบดีกรมที่ดินในฐานะผู้บังคับบัญชาก็ย่อมมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน ให้สำเร็จลุล่วงตามภารกิจที่ถูกกำหนดไว้ เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๒ – ๘๗๖/๒๕๖๐ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๐๒๗/๒๕๖๑ และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ คดีหมายเลขดำที่ ๑๑๑/๒๕๖๓ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๑๑๒/๒๕๖๓ ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของ

กรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ ๓๗๕ + ๖๕๐ เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟฯ ซึ่งกรมที่ดินมีหน้าที่ในการคุ้มครองป้องกันที่ดินดังกล่าว

ส่วนที่การรถไฟฯ ตรวจพบเอกสารจากสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า มีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนที่ดินการรถไฟ จำนวนประมาณ 396 ฉบับ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำนวนประมาณ 376 ฉบับ รวมเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทั้งสิ้น จำนวนประมาณ 772 ฉบับ ซึ่งการรถไฟได้มีหนังสือดึงกรมที่ดินแจ้งว่ามีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปโดยคลาดเคลื่อน ศาลพิจารณาเห็นว่าอธิบดีกรมที่ดินสามารถมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปก่อนได้ โดยไม่จำต้องรอให้ตรวจสอบพบหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทั้งหมดหรือพบข้อเท็จจริงจนชัดแจ้งแล้วจึงจะมีคำสั่งแต่งตั้ง ดังนั้น กรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน จึงละเลยต่อหน้าที่ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

ส่วนกรณีเรียกค่าเสียหาย707 กว่าล้าน พร้อมค่าชดเชยเดือนละ 58 กว่าล้านบาท ศาลมีคำสั่งยกฟ้องเพราะการรถไฟฯยังไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แต่อย่างใด

นอกจากนี้ศาลยังพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดิน มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยศาลมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ให้การรถไฟฯร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟต่อไป

ภายหลังรับทราบคำพิพากษา อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่าเคารพคำพิพากษาศาล ที่ผ่านมายอมรับว่าการรถไฟฯ ไม่เคยมายื่นสอบเขตที่ดินเลย ซึ่งศาลได้สั่งให้ทั้งการรถไฟฯ และกรมที่ดิน จะต้องตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อให้เกิดความชัดเจน ในวันพรุ่งนี้ (31 มี.ค. 2566) จะเรียกประชุมคณะกรรมการของกรมที่ดิน เพื่อดูคำพิพากษาว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ รวมถึงจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีนี้ด้วย โดยจะมีผู้ตรวจราชการกรมที่ดินเป็นประธาน คาดว่าดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายใน 60 วัน

อธิบดีกรมที่ดิน ยืนยันว่า จะดำเนินการหากพบว่าเป็นการออกเอกสารโดยมิชอบ ทั้งนี้ อาจจะเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ประมาทเลินเล่อและข้อมูลที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาเขตแนวที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หากพบว่าเจ้าหน้าที่จงใจกระทำทุจริตจะดำเนินคดีอาญาต่อไป

ปมปัญหาที่ดินบริเวณเขากระโดง พรรคฝ่ายค้านได้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น ช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 หลังจากนั้นเดือนกันยายน แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนกรณีดังกล่าว เพราะมีหลักฐานว่า นายศักดิ์สยามและเครือญาติถือครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง และร้องให้ตรวจสอบการไม่เร่งสั่งการให้การรถไฟฯดำเนินการทวงคืนที่ดิน แต่กลับไปฟ้องกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินโดยมองว่าเป็นการยื้อเวลา จนสุดท้ายวันนี้ศาลปกครอบกลางมีคำพิพากษาดังกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง