คัดลอก URL แล้ว
ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี ยืนยัน! “ซีเซียม-137” ถูกหลอมแล้ว แพทย์เตือน! ละอองไอ กระจายกว่า 1,000 กิโล เสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง

ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี ยืนยัน! “ซีเซียม-137” ถูกหลอมแล้ว แพทย์เตือน! ละอองไอ กระจายกว่า 1,000 กิโล เสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง

ความคืบหน้ากรณีวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ซึ่งเป็นอุปกรณ์วัดระดับขี้เถ้าในไซโล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ความยาว 8 นิ้ว หนัก 25 กิโลกรัม หายไปจากบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์แพลนท์ 5เอ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรม 304 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี

ล่าสุดวันนี้ (20 มี.ค.) นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่า  ตรวจพบ ‘ซีเซียม-137’ ขณะถูกหลอมแล้ว แต่ขอให้ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นผู้แถลงเอง พร้อมยืนยันว่าได้ทำการกันพื้นที่ไม่ให้ประชาชนเข้าใกล้โดยรอบโรงงานแล้ว

ด้านเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว เผยว่า นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยทางโทรศัพท์กับทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ ว่า

จากการเข้าตรวจสอบโรงถลุงเหล็กในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 2 รอบ รอบแรกได้เข้าไปตรวจสอบบริเวณกองเศษเหล็ก แต่ไม่พบกล่องเหล็กที่บรรจุสารกัมมันตภาพรังสี ซีเซียม-137 ในรอบ 2 จึงนำเครื่องมือเข้าไปตรวจสอบบริเวณฝุ่นแดง ปรากฏว่าพบ ซีเซียม-137 แต่ไม่พบผลิตภัณฑ์เหล็ก ส่วนโรงถลุงเหล็กอื่น ๆ ยังไม่เจอ

ขณะที่ นพ.สมรส พงศ์ละไม แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก Somros MD Phonglamai ระบุว่า 

ถ้า Cesium-137 ถูกหลอมเผาไหม้และกลายเป็นไอ สามารถออกไปได้เป็นหลักร้อยถึงพันกิโลเมตรขึ้นกับลม (เหตุการณ์ที่ Chernobyl พบว่า Cesium-137 ปลิวไปถึงสวีเดน 1,000 กิโลเมตร) และทำร้ายสิ่งมีชีวิตได้ทั้งการสัมผัสโดยตรง การกิน และการหายใจ

Cesium-137 จะสะสมในดิน น้ำ อาหาร ทำให้เกิดผลเสียต่อสัตว์และมนุษย์ ปลา นก ไก่ หมู หมา แมว วัว ฯลฯ อนุภาคบีต้าและรังสีแกมมา จะทำลาย DNA, ทำให้เกิด mutation ถ้าไม่ตายก็เกิดมะเร็งต่อ โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์

Cesium 137 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี ดังนั้นจะใช้เวลาในธรรมาชาติไม่ต่ำกว่า 100 ปีจึงจะสลายหมด คนที่จะได้รับผลกระทบน่าจะหลายแสนและเป็น 100 ปี จะมีคนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในพื้นที่เสี่ยง

คนที่คิดว่าเสี่ยงต่อการสัมผัส Cesium-137 ควรเฝ้าระวังเร่งด่วน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ 

รัฐควรเก็บบันทึกข้อมูลอย่างโปร่งใส มีโอกาสที่คนจะสัมผัสปริมาณมาก ยิ่งคนที่อยู่ใกล้ในระยะ 5-10 เมตร น่าจะอันตรายมาก (ไม่รู้ว่าระยะจริงที่ปลอดภัยเท่าไหร่ เพราะขึ้นกับความเข้มข้นที่เหลืออยู่และ shield ที่ป้องกัน)

รอการประกาศเร่งด่วนอย่างเป็นทางการและโปร่งใสจากหน่วยงานของรัฐอีกทีพรุ่งนี้

หมายเหตุ: ข้อมูลเบื้องต้นที่ค้นเอง และ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านปรมาณู

Picture: The Dynamics of Radio-Cesium in Soils and Mechanism of Cesium Uptake Into Higher Plants: Newly Elucidated Mechanism of Cesium Uptake Into Rice Plants

ซีเซียม-137 (Caesium-137) คืออะไร  

สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลไว้ว่า ซีเซียม-137 (Cs-137) เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม ซึ่งเป็นผลผลิตฟิชชันที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ซีเซียม-137 มีครึ่งชีวิต 30.17 ปี ประมาณ 95% สลายตัวโดยการปลดปล่อยรังสีบีต้าแล้วกลายเป็นแบเรียม-137m (barium-137m) ซึ่งเป็นไอโซโทปกึ่งเสถียร (metastable) หรือไอโซเมอร์ของแบเรียม-137 (137mBa, Ba-137m) 

ส่วนอีก 5% สลายตัวไปเป็นไอโซโทปเสถียรโดยตรง แบเรียม-137m (Ba-137m) สลายตัวให้รังสีแกมมา โดยมีครึ่งชีวิต 2.55 นาที ซีเซียม-137 ปริมาณ 1 กรัม มีกัมมันตภาพรังสี 3.215 เทราเบคเคอเรล (terabecquerel, TBq)

โฟตอนจากไอโซโทปรังสีแบเรียม-137m มีพลังงาน 662 keV สามารถใช้ประโยชน์ในการฉายรังสีอาหาร (food irradiation) ใช้ในด้านรังสีรักษา (radiotherapy) สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง มีการใช้ซีเซียม-137 สำหรับการถ่ายภาพด้วยรังสีทางอุตสาหกรรมไม่มากนัก เนื่องจากเป็นวัสดุที่ไวต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมี เกลือของซีเซียมละลายน้ำได้ดีทำให้ควบคุมความปลอดภัยได้ยาก 

จึงมีการใช้โคบอลต์-60 (Cobalt-60) ในงานด้านการถ่ายภาพด้วยรังสีมากกว่า นอกจากจะเป็นโลหะที่ไวต่อปฏิกิริยาน้อยกว่าแล้ว ยังให้รังสีแกมมาพลังงานสูงกว่า การนำมาใช้งาน เราจะพบซีเซียม-137 ได้ในอุปกรณ์วัดความชื้น เครื่องวัดอัตราการไหลหรืออุปกรณ์ตรวจวัดชนิดอื่นที่ใช้หลักการทำงานคล้ายกัน

คุณสมบัติของซีเซียม-137

ชื่อ     ซีเซียม-137 (Caesium-137)

สัญลักษณ์     137Cs หรือ 137-Cs

จำนวนนิวตรอน     82

จำนวนโปรตอน     55

ครึ่งชีวิต                          30.17 ปี

เกิดจากไอโซโทป             ซีนอน-137 (137Xe, b-)

สลายไปเป็นไอโซโทป     แบเรียม-137m (137mBa)

มวลของไอโซโทป            136.907 u

พลังงานของรังสีบีต้า         1.176 MeV

ผลกระทบต่อร่างกายหากโดน สารซีเซียม-137 ข้อมูลจาก จากกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับสารซีเซียม-137 เป็นกัมมันตภาพรังสี (radioactivity) หากสัมผัสในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจน แต่หากสัมผัสในระยะเวลานานและปริมาณสูงขึ้น จะเริ่มมีผลต่อร่างกาย ทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย หากสัมผัสในปริมาณสูงและยาวนาน อาจเกิดพังผืดที่ปอด เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจกขึ้นในนัยน์ตา ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ 

นอกจากนี้ หากปนเปื้อนลงไปในน้ำ จะส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ในสัตว์ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการรับและการสะสม หากสัตว์รับสารรังสีเข้าไปจะเพิ่มความเข้มข้นสะสมในห่วงโซ่อาหาร แต่ยังไม่มีผลยืนยันที่ชัดเจนว่าจะถึงขั้นเปลี่ยนระบบนิเวศน์ใต้ทะเลหรือไม่

ที่มา สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย / สธ.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง