KEY :
- เกาหลีใต้รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 4.8% โดยทางการเกาหลีใต้ยังคงระบุว่า อยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่อง
- ราคาสินค้า-บริการด้านสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น 28.4% จากสงครามในยูเครน
- ภาคการส่งออกลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อ และเผชิญการขาดดุลการค้าต่อเนื่อง 12 เดือน
…
เกาหลีใต้รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 4.8% ลงต่ำกว่า 5% เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน แต่ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระดับสูงและส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนอยู่ก็ตาม โดยดัชนีราคาผู้บริโภคของเกาหลีใต้ได้ลดลงจากเดือนมกราคม 2566 ที่อยู่ที่ระดับ 5.2%
ซึ่งราคาค่าสินค้าและบริการสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น 28.4%จากผลกระทบของสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครน ภายหลังรัสเซียเปิดฉากการโจมตีเมื่อ ก.พ. 2565 และส่งผลให้ราคาค่าพลังงานพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ทางด้านของราคาสินค้าอุตสาหกรรมมีการปรับเพิ่มขึ้นราว 5.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 17.7%
สำหรับรายจ่ายส่วนบุคคลของเกาหลีใต้นั้นเพิ่มขึ้นราว 3.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากประกันภัย และค่าที่พักอาศัยปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันจำนวน 144 รายการ เช่นอาหาร เสื้อผ้า มีการปรับขึ้นเฉลี่ย 5.5% ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 6.1%
นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า ยังคงต้องจับตาดูที่ราคาอาหาร และบริการต่าง ๆ ที่ยังคงอาจจะมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นได้อีก หลังจากที่ราคาวัตถุดิบในตลาดโลกมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง
และจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ร่วมกับความไม่แน่นอนต่าง ๆ จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ซึ่งทางการเกาหลีใต้ระบุว่า จะเร่งเดินหน้ามาตรการต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะชะลอตัวลงในปีนี้ เช่น มาตรการการตรึงค่าบริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น รถไฟ ทางด่วน ไปรษณีย์ รวมถึงพยายามที่จะควบคุมและชะลอการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้า ก๊าซ และพลังงานอื่น ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด
ส่งออกลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อ
ในขณะที่ภาคการส่งออกของประเทศเกาหลีใต้ ยังคงมีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยรายได้จากการส่งออกสินค้าของเกาหลีใต้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ลดลงเหลือ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงราว 7.5%
โดยการลดลงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศลดลง 42.5% ทั้งจากราคาชิปที่ลดลง ร่วมกับความต้องการที่ลดลงด้วย
ในขณะที่ด้านของการนำเข้านั้น ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 3.6% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 5.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 19.7%
ส่งผลให้เกาหลีใต้ยังคงขาดดุลการค้าอยู่ราว 5.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นการขาดดุลการค้าติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน