KEY :
- ฝุ่น PM 2.5 ยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือที่ส่วนใหญ่มีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- ในขณะที่ภาคกลางตอนบนและด้านตะวันตกของภาพ รวมถึงภาคอีสานตอนบน ค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับสีแดงเช่นกัน
- กรุงเทพฯ ปริมณฑลมีค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้น โดยในกทม. พบเขตบางขุนเทียน มีค่าฝุ่นอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
- คาดในช่วง 7 วันแรกของเดือนมีนาคมนี้ ค่าฝุ่น PM 2.5 จะอยู่ในระดับสูง เนื่องจากสภาพอากาศปิด กระแสลมอ่อน มีอากาศเย็น ฝุ่นควันสะสมตัวได้ดี
…
วันนี้ ( 28 ก.พ.) สถานการณ์การฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 จากรายงานการตรวจวัดของเว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเวลา 08.00 น. พบว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมถึงภาคตะวันออก กลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง
สำหรับในภาคเหนือปริมาณฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีเพียงบางจุดเท่านั้นที่ค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม
ส่วนในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะบริเวณทางตอนบน และด้านตะวันตกของภาคกลาง สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้น และอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในหลายพื้นที่ด้วยกัน เช่นเดียวกับบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
สำหรับในระยะนี้ สภาพอากาศยังคงเป็นช่วงของอากาศปิด มีอากาศเย็น กระแสลมอ่อน ส่งผลให้ฝุ่นควันสามารถสะสมตัวได้ดี โดยเฉพาะในหลายพื้นที่ที่มีการเผาวัสดุทางการเกษตร
โดยในระยะนี้ เป็นช่วงของฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย เพื่อส่งเข้าโรงงานน้ำตาล โดยในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยราว 12 ล้านไร่ โดยคาดว่า มีอ้อยราว 30% ที่เป็นอ้อยไฟไหม้ โดยมีการพบพื้นที่จุดความร้อนซ้ำซากในพื้นที่ปลูกอ้อยในหลายพื้นที่ด้วยกัน
สำหรับในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมนี้ คาดว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยจะยังคงอยู่ในระดับที่สูง แนะนำให้ประชาชนควรเฝ้าระวังและป้องกันด้วยการสวมหน้ากาก N95 เลี่ยงการทำกิจกรรมในพื้นที่กลางแจ้ง
…
กรุงเทพฯ ปริมณฑลฝุ่นพุ่งสูงขึ้น
สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ จากรายงานเมื่อเวลา 08.00 น. ที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่เขตบางขุนเทียน มีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 114 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงเกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ในขณะที่อีก 74 พื้นที่พบว่า มีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีส้ม หรืออยู่ในระดับที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว มีเพียง 6 พื้นที่เท่านั้นที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง (ระดับสีเหลือง)
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วง 2-7 มี.ค. 66 นี้ แนวโน้มของสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศปิด กระแสลมอ่อน มีอากาศเย็นในตอนเช้า ซึ่งคาดว่า ในช่วงหลังจากวันที่ 8 มี.ค. ไปแล้ว สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จะดีขึ้น จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ฝุ่นควันไม่สามารถสะสมตัวได้
สำหรับ 10 พื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชม. สูงที่สุดในพื้นที่กทม. ได้แก่
จุดตรวจวัด | ค่าฝุ่น PM 2.5* | |
---|---|---|
1 | เขตบางขุนเทียน | 114 |
2 | เขตหนองแขม | 71 |
3 | เขตคลองสามวา | 70 |
4 | เขตบางเขน | 69 |
5 | เขตดินแดง | 68 |
6 | เขตลาดกระบัง | 68 |
7 | เขตธนบุรี | 68 |
8 | เขตปทุมวัน | 67 |
9 | เขตประเวศ | 67 |
10 | เขตตลิ่งชัน | 67 |
…
10 จุดค่าฝุ่นสูงสุดในไทย
สำหรับ 10 จุดที่มีรายงานค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงที่สุดในประเทศเมื่อเวลา 08.00 น.จากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่
จุดตรวจวัด | ค่าฝุ่น PM 2.5* | |
---|---|---|
1 | วัดจำค่าวนาราม ต.บ้านเสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง | 512 |
2 | รพ.ทองแสนขัน | 490 |
3 | โรงพยาบาลน้ำปาด จ. อุตรดิตถ์ | 413 |
4 | สถานีตรวจวัด ร.ร.เสด็จวนชยางค์กูลวิทยา ต.บ้านเสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง | 411 |
5 | โรงพยาบาลท่าสองยาง จ. ตาก | 408 |
6 | รร.บ้านห้วยทรายขาว ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน | 407 |
7 | ที่ว่าการอ.เถิน ต.แม่ปะ อ.เถิน จ.ลำปาง | 377 |
8 | โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ หมู่บ้าน จ.ลำปาง | 369 |
9 | รพ.แม่สอด ต.แม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก | 364 |
10 | โรงพยาบาลบ้านตาก | 357 |
* ค่าฝุ่นละอองเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
…
จุดความร้อนยังสูง โดยเฉพาะภาคเหนือ
จากรายงานจุดความร้อนของทาง GISTDA ในภูมิภาคพบว่า จำนวนจุดความร้อนยังคงเพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อวานนี้ โดยพบทั้งหมด 13,437 จุด แบ่งเป็น
- ไทย 3,768 จุด (เพิ่มขึ้น)
- ลาว 3,370 จุด (เพิ่มขึ้น)
- เมียนมาร์ 2,809 จุด (ลดลง)
- กัมพูชา 2,758 จุด (เพิ่มขึ้น)
- เวียดนาม 732 จุด (เพิ่มขึ้น)
ซึ่งจุดความร้อนที่พบในวันนี้ ยังคงเกาะกลุ่มอยู่ในพื้นที่เดิม คือ บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบนและด้านตะวันตกของภาค
โดยในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พบจุดความร้อนจำนวน 2,201 จุด เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานที่ผ่านมา
สำหรับจุดความร้อนในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด มีจำนวนจุดความร้อนทั้งสิ้น 1,900 จุด เพิ่มสูงขึ้นจากวันก่อน แม้ว่าจะยังคงอยู่ในช่วงห้ามเผาเด็ดขาด ในขณะที่พื้นที่ด้านจังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นพื้นที่ที่มีรายงานการพบการเผากระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างมาก