นักวิจัยเชียร์ขึ้นภาษีน้ำตาลระยะ 2 เมษาฯ นี้ ระบุ ผลงานการศึกษาคาดประมาณผลกระทบทางสุขภาพจากมาตรการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในไทย ช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายรายปีที่ใช้รักษาโรคได้ถึง 121.4 ล้านบาท ขณะที่ปีสุขภาวะตลอดชีพของประชากรจะเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 2 สัปดาห์/คน
ผศ.ดร.พจนา หันจางสิทธิ์ นักวิจัย จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงผลการศึกษาการคาดประมาณผลกระทบทางสุขภาพจากมาตรการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในประเทศไทยว่า ประเทศไทยเริ่มจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณสูงเกินกว่าระดับที่กรมสรรพสามิตกำหนด มีผลบังคับใช้ในปี 2560 การศึกษาได้ลงไปดูข้อมูลการเก็บภาษีที่แบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 2 สิ้นสุดเดือนกันยายน 2564 เพื่อดูว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้องเยอะที่สุดจากการที่มีดัชนีมวลกายสูง (BMI) สูง ทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เมื่อมีการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ภาวะโรคเหล่านั้นเป็นอย่างไร
ผศ.ดร.พจนา กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมากลุ่มโรคไม่ติดต่อ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรไทยถึงร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตทั้งหมด คิดเป็น 3.2 แสนคนต่อปี โดยร้อยละ 55 เสียชีวิตที่อายุน้อยกว่า 70 ปี ซึ่งจากการทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของการศึกษา พบว่า หากขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลง จะสามารถลดอัตราอุบัติการณ์ หรือเคสเกิดใหม่ได้
ผลการศึกษา คาดประมาณจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่ป้องกันได้ แยกแต่ละโรค เมื่อเทียบกับการมีการเก็บภาษี และไม่มีการเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ณ ปี 2579 สามารถป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ 21,000 คน โรคหัวใจขาดเลือด 2,000 คน โรคหลอดเลือดสมอง 1,100คน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง โรคเบาหวาน 620 คน โรคหัวใจขาดเลือด 500 คนโรคหลอดเลือดสมอง 130 คน
ทั้งนี้ รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายรายปีในการรักษาโรคได้ถึง 121.4 ล้านบาท ขณะที่ปีสุขภาวะตลอดชีพของประชากรจะเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 2 สัปดาห์ต่อคน คือปีสุขภาวะที่ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่เป็นโรค
ผศ.ดร.พจนา กล่าวถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้วยว่า กรมสรรพสามิตควรพิจารณา เก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงให้ถึงรอบที่ 4 ทำตามเวลาที่ได้กำหนดเอาไว้ ด้วยงานวิจัยนี้ได้ฉายภาพไปข้างหน้า คาดการประมาณผลที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บภาษียังพบอีกว่า หากรัฐจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เต็มรูปแบบ จะมีรายได้ใน 25 ปีแรก (พ.ศ. 2562- 2587) ถึง 830,000 ล้านบาท ทั้งหมดจะส่งผลให้ผู้มีภาวะโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้อลดลง อีกทั้งประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคของรัฐลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมในการปรับสูตรเครื่องดื่มที่ลดปริมาณน้ำตาลลง 25% หรือ 50% จะสามารถลดจำนวนผู้มีภาวะโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกี่ยวข้องได้มากยิ่งขึ้น
“ที่ผ่านมาการเก็บภาษีระยะ ที่1 และระยะที่ 2 แทบไม่มีผลเรื่องของราคาสินค้าเลย ซึ่งองค์การอนามัยโลก แนะนำเรื่องการใช้มาตรการทางภาษี การเก็บภาษีน้ำตาล เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือสุขภาพประชาชนทางหนึ่ง แถมรัฐยังมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย `WIN-WIN’ ทั้งคู่ ประเทศไทยรัฐบาลอาจห่วงภาคอุตสาหกรรม จึงค่อยๆ เก็บภาษี แตกต่างจากบางประเทศใช้มาตรการทางภาษีที่เข้ม เช่น อังกฤษ จนทำให้ภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรลดน้ำตาลลง”