คัดลอก URL แล้ว
สภาวิศวกร ตรวจสอบสาเหตุอาคารทรุดตัว พบนั่งร้านที่ใช้ค้ำยันอาจไม่แข็งแรงพอในการรับน้ำหนัก

สภาวิศวกร ตรวจสอบสาเหตุอาคารทรุดตัว พบนั่งร้านที่ใช้ค้ำยันอาจไม่แข็งแรงพอในการรับน้ำหนัก

จากกรณีเหตุอาคาร 5 ชั้น ย่านพระราม 9 คานอาคารกำลังก่อสร้างโครงการ หมู่บ้านจัดสรรหรู ทรุดตัวสไลด์ลงมาที่ชั้น 3 คนงานกว่าร้อยหนีตาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย เป็นชาย 2 คนหญิงอีก 3 คนและแรงงานทั้งหมดเป็นแรงงานชาวกัมพูชา ส่วนสาเหตุอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ล่าสุดวันนี้ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เมื่อเวลา 09.30 น. คณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม สภาวิศวกร พร้อมด้วย สำนักงานเขตห้วยขวาง ฝ่ายโยธา , วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ดเกี่ยวกับโครงสร้างของตัวอาคารที่กำลังสร้าง ซึ่งมาความสูง 5 ชั้น โดยมีคนงานทั้งหมด 130 คนในวันเกิดเหตุ

กระทั่งเวลา 10.30 น. คณะทำได้ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยนายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กล่าวว่า วันนี้มาตรวจสถานที่เกิดเหตุในเรื่องมาตราการป้องกันอันตราย โดยตอนนี้จะทำการปิดกั้นพื้นที่โดยรอบเป็นเวลา 1 เดือน หรือจนกว่าจะปรับปรุงเสร็จ ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพราะสถานที่นี้ไม่ค่อยมีความปลอดภัยทั้งมีทั้งหลุมทั่วบริเวณก่อสร้าง และในตัวอาคารเองถ้าไม่มีความปลอดภัยที่เพียงพอสำนักงานเขตจะประชุมกับสำนักงานโยธา ไม่อนุญาตให้ก่อสร้างจนกว่าจะมีความปลอดภัยที่มากพอ จะปิดกั้นไม่ให้มีการสร้างเลยทั้งโครงการ หลังจากตรวจสอบเสร็จแล้วในที่ประชุมบอกว่ามีความปลอดภัยจริงถึงจะทำการสร้างต่อได้

ส่วนเรื่องการดำเนินคดี ต้องรอทางตำรวจทำการตรวจสอบ ว่าเกิดจากความประมาทของส่วนบุคคลหรือจากสภาพที่ไม่ปลอดภัย

รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากการสอบถามผู้คุมงาน หรือผู้ที่อยู่ในโครงการ ได้การว่า อาจเกิดจากการเทคอนกรีต ที่มีการผสมตั้งแต่ช่วงเช้า จนถึงเย็น เลยทำให้เกิดการเกลี่ยปูนไม่ทัน และนั่งร้านที่ใช้ค้ำยันอาจไม่แข็งแรงพอในการรับน้ำหนัก จนเกิดการพับหรือหักจนทำให้เพดานชั้นบน หล่นมากระทบชั้นล่างเกิดการพังไปด้วย หลักๆน่าจะเกิดจากนั่งร้านที่ใช้ค้ำยัน และน้ำหนักที่เยอะเกินไป ส่วนเรื่องเสาบ้านยังไม่ 100% แต่ยังคงมีความแข็งแรง ในการออกแบบถูกต้องหรือไม่ต้องตรวจสอบอีกทีภายหลัง และควรจะมีการตรวจสอบเชิงรุกในเรื่องของผลกระทบโครงสร้างที่พังลงมากับส่วนอาคารที่เหลือ ที่มีการสร้างในรูปแบบเดียวกันจะมีผลกระทบในภายหลังหรือไม่ เป็นความรับผิดชอบของวิศวกรที่เข้ามาตรวจสอบ

รศ.เอนก ศิริพาณิชยกร ประธานคณะทำงานจัดการภัยพิบัติจัดการภัยพิบัติอาคารถล่มสภาวิศวกร กล่าวว่า ทางวิศวะจะให้คำแนะนำกับทางสำนักงานโยธา จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น ในหลายๆส่วน ในส่วนของการดำเนินการของวิศวกร ทางสภาจะเอาเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในเรื่องจรรยาบรรณ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของประชาชน และจะมีการลงโทษตามกระบวนการ เริ่มตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน จนถึง การถอนใบอนุญาต

และขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล อย่างไรก็ตามเวลามีเหตุแบบนี้สามารถแจ้งมาที่สภาวิศวกร 1303 จะประสานให้กับเจ้าหน้าที่และภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยทำให้เกิดความปลอดภัย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง