KEY :
- คณะนักวิจัยนิวซีแลนด์และนานาชาติ เผย มวลน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งซึ่งหดตัวลงเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น สามารถสะสมจนเกิดเป็นทะเลสาบบริเวณใกล้เคียง
- ทำให้ประชาชนบนภูเขาสูงราว 15 ล้านคน เสี่ยงเผชิญน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง (GLOF) ได้
- ประชาชนในภูมิภาคภูเขาสูงของเอเชียเผชิญความเสี่ยงสูงสุดและอาศัยอยู่ใกล้ทะเลสาบธารน้ำแข็งมากสุดโดยเฉลี่ย
ผลการวิจัยจากคณะนักวิจัยนิวซีแลนด์และนานาชาติที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ (Nature) ระบุว่ามวลน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งซึ่งหดตัวลงเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น สามารถสะสมจนเกิดเป็นทะเลสาบบริเวณใกล้เคียง และทำให้ประชาชนบนภูเขาสูงราว 15 ล้านคน เสี่ยงเผชิญน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง (GLOF) ได้
ผลการวิจัยชิ้นใหม่ระบุว่าทะเลสาบเหล่านี้ถือเป็นภัยธรรมชาติต่อประชาชนที่อาศัยบริเวณปลายน้ำอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการพังทลายของเขื่อนตามธรรมชาติอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมทะลักแบบฉับพลัน โดยผู้ที่อาศัยในภูมิภาคภูเขาสูงของเอเชียและเทือกเขาแอนดีสมีความเสี่ยงสูงสุดต่ออันตรายประเภทนี้ ขณะพื้นที่มีประชากรหนาแน่นและทรัพยากรสำหรับรับมือน้อยมีความเสี่ยงมากที่สุด
โทมัส โรบินสัน วิทยากรอาวุโสของวิทยาลัยโลกและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี กล่าวว่าน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็งอาจเกิดขึ้นโดยปราศจากสัญญาณเตือนเมื่อเขื่อนตามธรรมชาติพังลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนเพื่อลดการสูญเสียชีวิตในอนาคต
โรบินสันระบุว่าจำนวนและขนาดของทะเลสาบธารน้ำแข็งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 1990 และปัจจุบันประชาชน 15 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบเหล่านี้
โรบินสันชี้ว่าประชาชนในภูมิภาคภูเขาสูงของเอเชียเผชิญความเสี่ยงสูงสุดและอาศัยอยู่ใกล้ทะเลสาบธารน้ำแข็งมากสุดโดยเฉลี่ย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้คนราว 1 ล้านคนอาศัยห่างจากทะเลสาบน้ำแข็งในระยะ 10 กิโลเมตร พร้อมเสริมว่าการทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนเสี่ยงเพื่อป้องกันภัยพิบัติใหญ่นั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ
ที่มา – Xinhua