KEY :
- ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นหลายพื้นที่เกือบทุกจังหวัดบริเวณประเทศไทยตอนบน
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ค่าฝุ่นพุ่งค่อนข้างสูงในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งการเผาวัสดุทางการเกษตรทั้งในและนอกประเทศ
- คาดในช่วง 1-3 ก.พ.นี้ จะมีค่าฝุ่นเพิ่มสูงขึ้น จากสภาพอากาศปิด การระบายอากาศไม่ดี
…
รายงานการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากเว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมาก
ส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีค่าฝุ่น PM 2.5 ขึ้นไปอยู่ในระดับสีแดง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่ปริมาณฝุ่นพุ่งทะลุระดับ 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรหลายแห่งด้วยกัน
เนื่องจากสถานการณ์ของสภาพอากาศปิดและนิ่ง ส่งผลให้การระบายอากาศทำได้ไม่ดี คาดว่าอัตราการระบายอากาศในช่วงวันที่ 1- 3 ก.พ. 66 จะไม่ดี เนื่องจากเพดานอากาศต่ำ เกิดสภาวะอากาศปิดอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง
เมื่อร่วมกับควันจากการเผาวัสดุทางการเกษตร การเผาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์-ป่าสงวน ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่พื้นที่เมืองใหญ่ เช่นกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีควันจากยานพาหนะเป็นปัจจัยหลักมากกว่าการเผาวัสดุทางการเกษตร
สำหรับประชาชนทั่วไป แนะนำให้สวมหน้ากาก N95 ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก เลี่ยงการออกกำลัง หรือใช้แรงในที่โล่งแจ้งโดยไม่จำเป็น หรือไม่ได้สวมหน้ากากป้องกัน ส่วนผู้ที่เป็นโรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ควรงดการออกนอกบ้าน และควรใช้อุปกรณ์ป้องกัน
10 จุดค่าฝุ่นสูงสุดในไทย
สำหรับ 10 จุดที่มีรายงานค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงที่สุดในประเทศเมื่อเวลา 08.00 น.จากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า
จุดตรวจวัด | ค่าฝุ่น PM 2.5* | |
---|---|---|
1 | รพ.สต. บ้านหว้า ต.โนนทัน อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น | 326 |
2 | ตลาดสดบ้านหล่ายแก้ว ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง ลำพูน | 323 |
3 | บ้านขวัญประชา ต.เขื่อนผาก อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 305 |
4 | สสอ.ค้อวัง ต.ค้อวัง อ.ค้อวัง จ.ยโสธร | 272 |
5 | บ้านหนองไฮป่าหวาย ต.บ้านโป่ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ | 259 |
6 | รพ.บ้านแพง ต.บ้านแพง อ.บ้านแพง จ.นครพนม | 248 |
7 | บ้านดอยสันเกี๋ยง ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ | 247 |
8 | บ้านปางโม่ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 246 |
9 | รพ.สต.บ้านปางมะเยา ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ | 246 |
10 | โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้นอาจาโร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร | 246 |
* ค่าฝุ่นละอองเป็นไมโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
…
สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงเช้าที่ผ่านมา สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้รายงานผลการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองในอากาศ
เมื่อเวลา 07.00 น. ที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สามารถตรวจวัดได้อยู่ระหว่าง 57-97 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โดยเฉลี่ยในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ 72.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
ซึ่งในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานและเริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพจำนวน 67 พื้นที่ด้วยกัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยคาดว่า ในช่วง 1 – 4 ก.พ. 2566 พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลควรเฝ้าระวังการสะสมของฝุ่นละออง เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่ง และปิด โดยพื้นที่ที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ (พื้นที่ท้ายลม)
…
ซึ่งภาพรวมของกรุงเทพฯ 10 อันดับแรกที่พบค่าฝุ่นละอองสูงเฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมงจากจุดตรวจวัดของกรุงเทพฯ เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ (1 ก.พ. ) ได้แก่
จุดตรวจวัด | PM 2.5* (เฉลี่ย 24 ชม.) | |
---|---|---|
1 | เขตประเวศ | 97 |
2 | เขตบางนา | 96 |
3 | เขตหนองแขม | 92 |
4 | เขตยานนาวา | 88 |
5 | เขตบางบอน | 87 |
6 | เขตบางขุนเทียน | 87 |
7 | สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ | 87 |
8 | เขตลาดกระบัง | 86 |
9 | เขตบางนา | 85 |
10 | เขตธนบุรี | 85 |
* ค่าฝุ่นละอองเป็นไมโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
…
จุดความรัอนยังพบทั้งในและนอกประเทศ
สำหรับรายงานจุดความร้อนจากดาวเทียม ในระบบ VIIRS ของ GISTDA ของเมื่อวานที่ผ่านมาพบว่า พบจุดความร้อนเพิ่มขึ้นจำนวนมากในหลายพื้นที่ ทั้งในและนอกประเทศ โดยพบใน
- เมียนมา 1,505 จุด (เพิ่มขึ้น)
- ไทย 1,280 จุด (เพิ่มขึ้น)
- กัมพูชา 1,270 จุด (เพิ่มขึ้น)
- ลาว 1,012 จุด (เพิ่มขึ้น)
- เวียดนาม 674 จุด (เพิ่มขึ้น)
สำหรับในประเทศไทย จุดความร้อนที่พบในขณะนี้ เกาะกลุ่มใหญ่อยู่ในบริเวณจังหวัดกาญจนบุรีในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังพบเป็นกลุ่ม ๆ เล็ก ๆ ในบริเวณจังหวัดตากด้านติดกับฝั่งจังหวัดสุโขทัย, อุตรดิตถ์, ชัยภูมิ, นครนายก และชลบุรี ส่วนในพื้นที่อื่น ๆ พบการกระจายตัวออกไป เช่นในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน
ซึ่งพื้นที่ที่พบ เป็นการพบจุดความร้อนในพื้นที่ป่าสงวน 376 จุด ป่าอนุรักษ์ 388 จุด พื้นที่เกษตร 238 จุด, เขตสปก. 172 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 145 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง11 จุด