วันนี้ (27 มกราคม 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกรมบัญชีกลาง เดินหน้าพัฒนาระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ (e-Payment Portal of Government) ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมหน่วยงานที่มีสำนักงานในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อเพิ่มช่องทางการให้บริการรับชำระเงินจากประชาชนหรือภาคธุรกิจแก่ส่วนราชการด้วยอิเล็กทรอนิกส์
การดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินกลางนี้ เป็นไปตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการรับชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National e-Payment Master Plan) เพื่อผลักดันระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ เป็นระบบกลางในการรับชำระเงินรายได้ หรือเงินอื่นจากประชาชนหรือภาคธุรกิจให้แก่ส่วนราชการ ซึ่งกรมบัญชีกลางเริ่มให้บริการมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนราชการสามารถออกใบแจ้งการชำระ (Bill Payment) เพื่อให้ผู้รับบริการ นำไปชำระเงินผ่านช่องทางที่กำหนด เช่น Mobile Banking และ Internet Banking หรือชำระเงินออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต และเมื่อผู้รับบริการชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ระบบจะออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ให้แก่ผู้รับบริการ โดยระบบจะรับและนำส่งเงินรายได้ดังกล่าวเข้าบัญชี เงินคงคลัง พร้อมทั้งบันทึกบัญชีในระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ (New GFMIS Thai)
ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบฯ ให้ครอบคลุมหน่วยงานที่มีสำนักงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 23 หน่วยงาน ให้บริการในระบบฯ มากกว่า 730 รายการ อาทิ ค่าธรรมเนียมมัดจำรังวัด ค่าธรรมเนียมโรงงาน และค่าจดทะเบียนการค้า เป็นต้น นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางมีแผนขยายผลการใช้งานระบบฯ ให้แก่ส่วนราชการเพิ่มเติมในระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) ด้วย ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจ สามารถใช้บริการระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ ได้ที่เว็บไซต์ https://epayment.cgd.go.th/ หรือหากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กรมบัญชีกลาง 0-2127-7551
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานภาครัฐและการบริการสาธารณะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนในการทำธุรกรรมระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทางการเงินการคลังของส่วนราชการให้มีความถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ เป็นการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินในทุกภาคส่วน ตลอดจนจะเป็นโอกาสเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ยกระดับศักยภาพระบบธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทย” นายอนุชาฯ กล่าว