KEY :
- จีนระบุว่า การทดลองวงจรชีวิตของพืช 2 ชนิด ได้แก่ ข้าว และเธลเครส (Arabidopsis) ในสถานีอวกาศของจีนเสร็จสิ้นแล้ว
- โดยได้มีการส่งตัวอย่างแช่แข็ง เพื่อไปศึกษาผลกระทบของสภาวะเกือบไร้น้ำหนักในอวกาศต่อลักษณะทางพืชศาสตร์ต่อไป
…
สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน รายงานว่าคณะนักวิทยาศาสตร์จีนเสร็จสิ้นการทดลองวงจรชีวิตของพืช 2 ชนิด ได้แก่ ข้าว และเธลเครส (Arabidopsis) ในสถานีอวกาศของประเทศ และประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์เมล็ดพืชทั้งสองชนิด
เมล็ดข้าวและเมล็ดเธลเครส ซึ่งผ่านวงจรชีวิต 120 วัน ถูกส่งไปยังระบบประยุกต์ใช้ในอวกาศของโครงการอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีน พร้อมตัวอย่างอื่นๆ หลังจากแคปซูลส่งกลับของยานอวกาศเสินโจว-14 ร่อนลงบนพื้นโลกอย่างปลอดภัย ณ ฐานลงจอดตงเฟิง เมื่อคืนวันอาทิตย์ (4 ธ.ค.)
เว็บไซต์สถาบันฯ ระบุว่าก่อนหน้านี้ คณะนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสามารถเพาะเมล็ดพันธุ์พืชในอวกาศได้เพียงไม่กี่ชนิด เช่น เธลเครส ดอกผักกาดก้านขาว ข้าวสาลี และถั่วลันเตา โดยไม่นับรวมเมล็ดพืชที่เป็นอาหารหลักอย่างข้าว
ทีมวิจัยจีนเสร็จสิ้นการทดลองวงจรชีวิตของข้าวอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกในโลก และยังศึกษาผลกระทบของสภาวะเกือบไร้น้ำหนักต่อการออกดอกในอวกาศอย่างเป็นระบบ โดยใช้เธลเครสต้นแบบ
การทดลองดังกล่าวดำเนินการโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์พืชเซลล์โมเลกุล (CEMPS) สังกัดสถาบันฯ ระหว่างวันที่ 29 ก.ค.-25 พ.ย. โดยทีมนักบินอวกาศเก็บตัวอย่างข้าวระยะงอกในวันที่ 21 ก.ย. ตัวอย่างเธลเครสระยะออกดอกในวันที่ 12 ต.ค. และตัวอย่างพืชทั้งสองชนิดระยะเมล็ดสุกแก่ในวันที่ 25 พ.ย. จากนั้นจัดเก็บตัวอย่างทั้งหมดในอุปกรณ์แช่เยือกแข็งแบบไครโอจีนิก (cryogenic)
สถาบันฯ ระบุว่าตัวอย่างเหล่านี้จะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน เพื่อทำการทดสอบและวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม
อนึ่ง คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบผลกระทบของสภาวะเกือบไร้น้ำหนักในอวกาศต่อลักษณะทางพืชศาสตร์ของข้าวหลายประการผ่านการวิเคราะห์ภาพถ่ายในอวกาศ อาทิ ความสูงของพืช อัตราการเจริญเติบโต การควบคุมน้ำ และการตอบสนองต่อแสง เป็นต้น
ที่มา – ซินหัว