คัดลอก URL แล้ว
รถจักรไอน้ำย้อนยุค เส้นทาง กรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ

รถจักรไอน้ำย้อนยุค เส้นทาง กรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ

KEY :

วันนี้ (5 ธ.ค. 65) การรถไฟแห่งประเทศไทย ปล่อยขบวนพิเศษรถจักรไอน้ำนำเที่ยว เฉลิมพระเกียรติ เส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ เนื่องในโอกาสวันที่ 5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ทั้งนี้ รฟท. นำหัวรถจักรไอน้ำแปซิฟิค หมายเลข 824 และ 850 รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลิตโดยบริษัท นิปปอน ชาร์เรียว ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาและซ่อมบำรุงอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี นำมาจัดเดินขบวนรถนำเที่ยวพิเศษใน 6 โอกาสพิเศษและวันสำคัญของทุกปี ซึ่งประกอบด้วย

  1. วันที่ 5 ธันวาคม วันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ
  2. วันที่ 26 มีนาคม วันสถาปนากิจการรถไฟ เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ
  3. วันที่ 3 มิถุนายน วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เส้นทางกรุเทพ – นครปฐม – กรุงเทพ
  4. วันที่ 28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ
  5. วันที่ 12 สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี
    พันปีหลวง เส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ
  6. วันที่ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา – กรุงเทพ

สำหรับเส้นทางขบวนรถจักรไอน้ำพิเศษนำเที่ยวเส้นทางกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ ขบวนที่ 903/904 จะออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 08.10 น. ถึงสถานีฉะเชิงเทราเวลา 09.50 น. นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดฉะเชิงเทราได้ตามอัธยาศัยประมาณ 6 ชั่วโมง อาทิ กราบสักการะหลวงพ่อพระพุทธโสธร พระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ไหว้ขอพรพระพิฆเนศวัดสมานรัตนาราม เดินชม ช้อปสินค้าที่ตลาดบ้านใหม่

จากนั้นขบวนรถเที่ยวกลับออกจากสถานีฉะเชิงเทรา เวลา 16.30 น. ถึงกรุงเทพ เวลา 18.10 น. โดยมีสถานีที่หยุดรับ – ส่งผู้โดยสาร ได้แก่ สถานีมักกะสัน คลองตัน หัวหมาก ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นหรือลงตามสถานีดังกล่าว ขณะเดียวกันยังขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ใกล้เส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ – ฉะเชิงเทรา สามารถร่วมบันทึกภาพหัวรถจักรไอน้ำในเส้นทางที่ขบวนรถวิ่งผ่านได้ตลอดเส้นทาง


ภาพ – กฤติกร จิตติอร่ามกูล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง