KEY :
- เตือนผลกระทบจากสารตกค้างในส้ม จากการใช้ยายาปฏิชีวนะ “อะม็อกซีซิลลิน” มาฉีดให้ต้นส้ม
- เนื่องจากยาชนิดดังกล่าวตกค้าในส้ม หากรับประทานเข้าไปก็จะได้รับยานี้ไปด้วย
…
เป็นที่รับรู้กันมาระยะหนึ่งแล้วว่า “ส้ม” นอกจากเป็นผลไม้อุดมไปด้วยสารเคมีตกค้าง โดยก่อนหน้านี้ในปี 2563 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN เคยตรวจวิเคราะห์ พบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด เฉลี่ยถึง 0.364 มิลลิกรัม เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) ที่สำคัญเป็นสารเคมีตกค้างชนิดดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ออกมาเตือนผลกระทบ กรณีพบผู้ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง นำยาปฏิชีวนะ “อะม็อกซีซิลลิน” มาฉีดให้ต้นส้ม เพื่อรักษาอาการกรีนนิ่ง แต่ยาชนิดนี้เมื่อตกค้างในส้ม จะทำให้คนที่บริโภคเข้าไปได้รับยาตัวนี้ไปด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการดื้อยาปฎิชีวนะในที่สุด
โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เตือนภัยสุขภาพอีกครั้ง หลังสื่อมวลชนอาวุโส ‘วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์’ โพสต์ภาพต้นส้มในพื้นที่อำเภอแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ มีขวดน้ำต่อสายยางเจาะเข้าไปในต้น ซึ่งเป็นน้ำผสมยาฆ่าเชื้อโรคคล้ายยาปฏิชีวนะฉีดให้ต้นไม้ โดยชาวบ้านบอกว่าหากไม่ฉีด ต้นไม้จะไม่แข็งแรงและเฉาตาย
รศ.ดร.เจษฎา ระบุว่า “จริงๆ มีรายงานเรื่องทำนองนี้มาหลายปีแล้วครับ แล้วก็เตือนกันมาโดยตลอดว่าไม่ควรทำครับ ผลเสียคือยามันจะตกค้างในผลส้ม เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้” อ้างอิงรายงานของทีมงานเพจ ‘เภสัชกรชายแดน’ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2561 ที่ร่วมกับทีมทำงานในพื้นที่ชายแดนแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทย ติดตามการนำยาปฏิชีวนะ อาม็อกซิลลิน (Amoxycillin) ไปใช้ในสวนส้ม
ซึ่งมีรายงานก่อนหน้านั้นราว 5 ปี ตั้งแต่มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่า สามารถใช้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าไปในต้นส้ม ผ่านท่อน้ำเลี้ยง ท่ออาหาร เพื่อกำจัดเชื้อคล้ายแบคทีเรีย (Bacteria like) ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคกรีนนิ่งในต้นส้มได้
ทีมงานเภสัชกรชายแดน พบว่า ปัจจุบันเกษตรกรได้ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยเกษตรกรจะไปซื้อยาปฏิชีวนะ Amoxycillin มาแกะเม็ดแคปซูลออก เอาแต่ผงยาออกมาละลายน้ำค้างไว้ 1 คืน หลังจากนั้นนำมากรองเอาแต่น้ำ ใส่ขวดแล้วนำมาฉีด โดย 1 ปีจะฉีด 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นส้มจะเหลืองและตาย
ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าเป็นกังวล และควรห้ามทำตามอย่างนี้ ได้แก่
- ทีมงานฯ พบผง Amoxycillin เกลื่อนพื้นดิน ซึ่งสามารถซึมสู่แหล่งน้ำใต้ดินต่อไปได้
- พบชาวสวนเกษตรกรสัมผัสผงยาโดยตรง
- ผู้บริโภคมีความเสี่ยงอย่างสูง ที่จะได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นจากการตกค้างในผลส้มนำไปสู่สภาวะเร่งเร้าให้เกิดเชื้อดื้อยา (กลไกการย่อยสลายเปลี่ยนสภาพของยาปฏิชีวนะในคน กับ ในต้นไม้นั้นแตกต่างกัน จึงอาจจะทำให้เกิดการตกค้างของยาปฏิชีวนะในต้นส้มได้)
- ผู้บริโภคบางคนอาจแพ้ยาปฏิชีวนะที่ตกค้างในส้ม การที่แพ้ยาอาจจะแพ้ยาถึงขั้นแพ้แบบรุนแรงทั้งแบบ Steven-Johnson Syndrome และ Toxic Epidermal Necrolysis (TEN) ที่เป็นการแพ้ยาที่มีความรุนแรงมาก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการที่เซลล์ผิวหนังตาย