KEY :
- เวียดนามยังเผชิญปัญหาวิกฤติน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย โดยปั้มน้ำมันราว 20% ในโฮจิมินห์ต้องปิดให้บริการเนื่องจากไม่มีน้ำมันจำหน่าย
- ทางด้านของปั้มน้ำมันระบุว่า น้ำมันที่จัดส่งมาไม่เพียงพอกับความต้องการ หลายแห่งสามารถหาน้ำมันเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
- ผู้ประกอบการนำเข้าน้ำมันระบุว่า ราคาน้ำมันในเวียดนามนั้นไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น โดยเสนอปรับเปลี่ยนจากการคำนวณราคาน้ำมันเฉลี่ยทุก 10 วัน เป็น 5 วัน หรืออาจจะเป็นทุกวัน
- เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวน และค่าเงินด่อง ก็อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง กระทบต้นทุนน้ำมัน
…
สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเวียดนามยังคงเผชิญปัญหาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเดือนต.ค. ที่ผ่านมา และส่งผลกระทบทำให้ชาวเวียดนามจำนวนมากต้องรอต่อคิวซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินที่มีความต้องการในการใช้ต่อเนื่องในชีวิตประจำวันของชาวเวียดนาม
ข่าวก่อนหน้านี้ – ปั๊มน้ำมันในเวียดนามขึ้นป้าย “หมด” ในหลายเมือง
โดยที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามพยายามเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งทำให้หลายปั้มสามารถกลับมาจำหน่ายน้ำมันเบนซินได้อีกครั้ง แต่ก็ยังคงมีบางแห่งที่ประสบปัญหา และพบว่า ในช่วงปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ปั้มน้ำมันหลายแห่งในเวียดนาม เผชิญปัญหาน้ำมันขาดแคลนอย่างหนักอีกครั้ง ทำให้ประชาชนต้องต่อคิวนานหลายชั่วโมงเพื่อรอเติมน้ำมัน รวมถึงมีการจำกัดจำนวนในการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงอีกด้วย โดยสําหรับรถจักรยานยนต์ซื้อได้ไม่เกิน 50,000 ด่อง และรถยนต์ซื้อได้ไม่เกิน 300,000 ด่อง
ปั้มน้ำมันระบุ น้ำมันส่งมาล่าช้า
ปั้มน้ำมันหลายแห่งต้องขึ้นป้าย “น้ำมันหมด” หรือบางแห่งต้องปิดให้บริการเนื่องจากไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะจำหน่ายให้ประชาชน โดยปั้มน้ำมันการระบุสาเหตุว่า น้ำมันจากบริษัทน้ำมันยังไม่มาส่ง โดยในช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา หลายฝ่ายประเมินกันว่า ปั้มน้ำมันในโฮจิมินห์ ราว 20% ปิดให้บริการเนื่องจากไม่มีน้ำมัน และอีกราว 9-10% มีน้ำมันไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย
ทางด้านของผู้ประกอบการตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ระบุว่า สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงในเวียดนาม ยังคงมีปัญหาไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปั้มน้ำมันบางแห่งสามารถจัดหาน้ำมันได้เพียง 5 พันลิตร ซึ่งสามารถจำหน่ายได้เพียงวันเดียวเท่านั้น และเมื่อหมดแล้ว ก็ยังคงต้องรออีกหลายวัน ซึ่งหลายแหล่งสามารถจัดหาน้ำมันได้เพียง 50-60% กับความต้องการเท่านั้น
นอกจากนั้น จากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้มีประชาชนบางส่วนอาศัยโอกาสนี้ในการเข้าไปต่อคิวซื้อน้ำมันจากปั้มน้ำมัน ก่อนที่จะนำมาแบ่งใส่ขวดขายตามข้างทาง โดยปรับราคาให้สูงขึ้น ยิ่งทำให้สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงในเวียดนามขาดตลาดได้เร็วขึ้น
รัฐบาลเวียดนามสั่งผู้ประกอบการจัดหาให้เพียงพอ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามได้สั่งการให้มีการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา โดยให้หน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบการประชุมหาทางออกร่วมกันในการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน การที่ปั้มน้ำมันต้องปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีน้ำมันจำหน่าย หรือภาพของประชาชนจำนวนมากที่ต้องรอคิวเติมน้ำมันถือเป็นเรื่องผิดปรกติ
โดยในการประชุมร่วมกันนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่า ปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากราคาน้ำมันที่ควบคุมไว้ กับต้นทุนที่เกิดขึ้นไม่สมดุลกัน โดยภาครัฐไม่ได้มีการปรับต้นทุนราคาน้ำมัน จึงให้รัฐบาลทบทวนราคาน้ำมันและปรับปรุงต้นทุนราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นจริงให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลกอีกด้วย
ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันของเวียดนาม 2 แห่งสามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินได้ราว 70-80% ของความต้องการในประเทศ และที่เหลือเป็นการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม เวียดนามก็จะต้องนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อส่งไปยังโรงกลั่นในประเทศ ซึ่งทำให้ในภาพรวมเวียดนามยังคงต้องนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปกว่า 70% และมีเพียง 30% เท่านั้นที่สามารถจัดหาได้ในประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องอิงกับราคาตลาดโลกเช่นเดิม
ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายระบุว่า รัฐบาลสั่งควบคุมราคาขายปลีกน้ำมันไม่ให้เกินราคาที่กำหนด แต่ต้นทุนน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะเก็บค่าขนส่งน้ำมัน เพิ่มเติมจากราคาน้ำมัน และทำให้ปั้มน้ำมันต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จนไม่สามารถทำกำไรได้ และหลายปั้มเลือกที่จะปิดตัวลง เนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหว
เตรียมคำนวณต้นทุนน้ำมันใหม่
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้รัฐบาลเวียดนามเตรียมคำนวณต้นทุนราคาน้ำมันใหม่ โดยอ้างอิงราคาตลาดและต้นทุนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้ประกอบการ โดยเบื้องต้นมีแนวทางในการปรับขึ้นราคาน้ำมัน รวมถึงการจัดหาเงินทุนสำรองในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อใช้ในการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงอีกด้วย โดยผู้ประกอบการที่จะรับการช่วยเหลือเหล่านี้ จะต้องร่วมลงนามกับรัฐบาล
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มีการคำนวณราคาน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ โดยให้มีการคำนวนต้นทุนราคาน้ำมันทุก 5 วัน หรืออาจจะเป็นทุกวัน ซึ่งที่ผ่านมาเวียดนามใช้การคำนวณราคาน้ำมันเฉลี่ย 10 วัน ซึ่งทำให้มีความล่าช้าและการปรับราคาน้ำมันไม่ทันต่อราคาตลาดโลก ทำให้ต้นทุนราคาน้ำมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ซึ่งนอกจากราคาน้ำมันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องอัตราการแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง