KEY :
- กรณีสาวนักสร้างคอนเทนต์ ที่ต้องการเรียกยอดกดไลก์ ด้วยการถ่ายคลิปโชว์ “กินซุปค้างคาว”
- เกิดกระแสตีกลับโดนวิจารณ์สนั่นโซเชียล จนต้องลบคลิปดังกล่าวไปในที่สุด
- ด้านกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยืนยันว่า เอาผิดตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด
…
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากคลิปดังกล่าวกรมอุทยานฯ ระบุว่าเบื้องต้นพบว่าค้างคาวที่กินโชว์ เป็น “ค้างคาวเพดานเล็ก” ซึ่งอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งขณะนี้ ‘นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา’ อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว
คลิปดังกล่าวตกเป็นกระแสวิจารณ์สนั่นโซเชียล กระทั่ง “หมอแล็บแพนด้า” นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง ชี้ว่าบางคนไม่ได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วโลกเลย ยังทำคอนเทนต์ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรค การไปเอาสัตว์ที่เป็นแหล่งของเชื้อโรคมากิน “เลิกไปยุ่งกับมันเถอะ อย่าไปกินสัตว์พวกนี้เลย เรามีบทเรียนที่หนักหนามากแล้ว อย่าทำให้โรคแปลกๆ มันระบาดสู่มนุษย์อีกเลย”
ทั้งนี้ จากการศึกษาโรคอุบัติใหม่ในค้างคาว เพื่อเฝ้าระวังการแพร่เชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์ไปยังสัตว์อื่น ที่อาจกลายพันธุ์ติดต่อสู่คนได้ในอนาคต พบว่า “ค้างคาว” เป็นแหล่งรังโรค และเป็นสัตว์ที่สะสมเชื้อโรคเยอะมาก มีรายงานการเจอไวรัสมากกว่า 60 ชนิดในค้างคาว ซึ่งบางชนิดก็ก่อโรคในคนได้ เช่น ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ไวรัสอีโบล่า ไวรัสซาร์ส ไวรัสเมอร์ส ไวรัสนิปาห์ที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ และไวรัสโคโรน่า เป็นต้น
ขณะที่ ‘นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน’ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการสำรวจชนิดค้างคาวในประเทศไทย ที่อาจเป็นแหล่งรังโรคของไวรัสสายพันธุ์ MERS-CoV ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาในค้างคาว จำนวน 645 ตัว รวมทั้งหมด 33 สปีชีส์ ที่เก็บตัวอย่างระหว่างปี พ.ศ. 2554-2558 ในพื้นที่ 10 จังหวัด (13 แหล่ง)
โดยใช้ตัวอย่างมูลค้างคาวที่เก็บโดยวิธี rectal swab นำมาสกัดสารพันธุกรรมและตรวจด้วยวิธี PCR ในตำแหน่งยีน RNA-dependent RNA polymerase ผลการตรวจพบไวรัสโคโรน่า จำนวน 57 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 8.8 โดยพบไวรัส aphaCoV 19 ตัวอย่าง betaCoV 36 ตัวอย่าง และพบไวรัส 2 genus ในค้างคาวตัวเดียวกัน จำนวน 2 ตัวอย่าง
“การตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ MERS-CoV และ SARS-CoV จากตัวอย่างค้างคาวในประเทศไทย เป็นสัญญาณเตือนให้มีการเฝ้าระวัง การแพร่เชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์ไปยังสัตว์อื่น ที่อาจกลายพันธุ์ติดต่อสู่คนได้ในอนาคต รวมทั้งการติดต่อสู่คนได้โดยตรง” นสพ.ภัทรพล กล่าว