KEY :
- ก่อนหน้านี้เกิดเหตุกรณี ‘เค ร้อยล้าน’ บุกเข้าล็อคคอ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ขณะเข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ
- หลังเกิดเหตุตำรวจนำตัวผู้ก่อเหตุส่งไปยังโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อตรวจสอบสภาพอาการทางจิต
- กรมสุขภาพจิต ระบุ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 พบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์เข้าข่ายเป็น ‘ผู้ป่วยจิตเวช’ ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ได้ทันที
เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอย่างมาก สำหรับกรณี ‘เค ร้อยล้าน’ หรือ นายคเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชา บุกเข้าล็อคคอ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขณะเข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ จนเกิดความวุ่นวายขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้ก่อเหตุส่งไปยังโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อตรวจสอบสภาพอาการทางจิตว่าเข้าข่ายเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิตหรือไม่
คำถามจากสังคมถึงความเสี่ยงเมื่อต้องเจอผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวช หลายต่อหลายครั้งที่เคยมีข่าวปรากฏเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยทางจิต จากการใช้สารเสพติด หรือทางชีวภาพ ปัญหาสังคมแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบทางจิตใจ จนกลายเป็นผู้ป่วยทางจิต หากไม่ได้รับการรักษา หรือ บำบัดที่ถูกต้อง ก็อาจเป็นภัยต่อคนในสังคมได้เช่นกัน
ซึ่งกรมสุขภาพจิต ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า หากพบผู้มีความเสี่ยง มีภาวะอันตรายหรือมีความจำเป็นต้องสามารถแจ้งข้อมูลเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562
สถิติผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อความรุนแรง
กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 14 กันยายน มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่ก่อความรุนแรงรวม 3,815 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุรุนแรงซ้ำจำนวน 510 ราย ผู้ป่วยทั้งหมดนี้ได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาของระบบสาธารณสุข
จากการรายงานผลการดำเนินงานโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2564 พบว่า มีข้อมูลผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาทางสุขภาพจิต ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ ทั้งในและนอกสังกัดกรมสุขภาพจิตมีจำนวนทั้งสิ้น 269 ราย โดยในสัดส่วนนี้เป็นผู้ที่ถูกดำเนินการส่งต่อตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต โดยยังไม่ได้ก่อคดีเพียง 59 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 21.93 เท่านั้น
นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติในสังคมที่มีคนอยู่ร่วมกันหลากหลาย การแก้ไขความขัดแย้งมีทั้งในเชิงบวก ซึ่งนำไปสู่การช่วยกันแก้ไขความขัดแย้งไปสู่ระบบที่ดีมากยิ่งขึ้น
ส่วนความขัดแย้งเชิงลบจะนำไปสู่ความรุนแรง เกิดความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย การป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรง คือต้องมองความขัดแย้งเป็นเรื่องของระบบ มุมมองหรือทัศนคติ ไม่บ่งชี้ไปที่ตัวบุคคล โดยวิธีการแก้ไขคือการเจรจา การประนีประนอม หรือให้เสียงส่วนใหญ่ตัดสิน ไม่ทำร้ายผู้เห็นต่าง ซึ่งยิ่งจะทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างไม่มีที่สิ้นสุด
ว่าด้วย พ.ร.บ.สุขภาพจิต แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562
ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 22 บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา (1) มีภาวะอันตราย (2) มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา
โดยมาตรา 23 ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา 22 ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจโดยไม่ชักช้า และให้นำผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตส่งสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการตามมาตรา 27
สำหรับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิต บางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 28 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
โดยพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างถูกต้องและเพียงพอ มีการเผยแพร่ข้อมูลสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออื่นใด ในทางที่ก่อให้เกิดทัศนคติไม่ดีต่อบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต รวมทั้งขาดกลไกการฟื้นฟูสมรรถภาพให้ผู้ป่วยที่มีอาการทุเลาสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
‘ผูู้ป่วยจิตเวช’ ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง
ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง เป็นผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวชที่มีความผิดปกติทางอารมณ์หรือพฤติกรรมที่ได้รับการวินิจฉัยอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป ยกเว้นกลุ่มปัญหาพัฒนาการและสารเสพติด
ด้วยความเจ็บปวดทางจิตเวชดังกล่าวจะต้องส่งผลต่อความเสี่ยงต่อพฤติกรรมรุนแรง หรือ ทำให้เกิดความทุกข์พลัมภาพรุนแรงมีผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังและดูแล เพื่อป้องกันการกำเริบซ้ำมากกว่าผู้ป่วยที่วินิจฉัยด้วยโรคเดียวกัน
โดยเกณฑ์การจำแนกผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงได้แก่ผู้ป่วยโรคจิตเภทร่วมซึมเศร้าและโรคอารมณ์ 2 ขั้วที่มีภาวะอันตรายสูงและที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายสูงโดยมีเกณฑ์จำแนกดังนี้
- มีประวัติทำร้ายตัวเองด้วยวิธีรุนแรงมุ่งหวังให้เสียชีวิต
- มีประวัติทำร้ายผู้อื่นด้วยวิธีรุนแรง หรือ ก่อเหตุการณ์รุนแรงในชุมชน
- ผู้ป่วยที่มีอาการหลงผิด มีความคิดทำร้ายผู้อื่นให้ถึงแก่ชีวิต หรือ มุ่งร้ายผู้อื่นแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ระบุชื่อบุคคลที่จะมุ่งทำร้าย
- เคยมีประวัติกรอกคดีอาญารุนแรง (ฆ่า พยายามฆ่า ข่มขืน วางเพลิง)
อาการเตือนทางจิตและปัจจัยกระตุ้นที่เสี่ยงต่อพฤติกรรมรุนแรง
การแสดงอาการของโรคหลังจากได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว การเกิดอาการกำเริบซ้ำของผู้ป่วยจะมีการเตือนก่อนเสมอ โดยปัจจัยกระตุ้นทำให้ผู้ป่วยควบคุมตัวเองไม่ได้ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
โดยปัจจัยกระตุ้นที่เสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมรุนแรง อาทิ ผู้ป่วยขาดยารับประทานยาไม่ต่อเนื่องหรือไม่ยอมรับประทานยา / เมาสุราหรือใช้สารเสพติด / มีอาการหลงผิดระแวงว่าจะถูกทำร้ายกลัวหรืออาจหลงคิดว่ามีอำนาจ / มีอาการหูแว่วได้ยินเสียงสั่งให้ทำร้ายผู้อื่น / อยู่ในภาวะอารมณ์โกรธรุนแรงอาจเกิดจากการถูกขัดใจ คนอื่นพูดผิดหู / อาจเลียนแบบทำตามผู้อื่น
สำหรับอาการเตือนหรือสัญญาณเตือนของกิจกรรมรุนแรง โดยลักษณะการแสดงออกของผู้ป่วย ในด้านคำพูด ได้แก่ พูดคำหยาบ ไม่ยอมรับการเจ็บป่วย ปฏิเสธการปวดจิต เป็นต้น ด้านอารมณ์ ได้แก่ หงุดหงิด โกรธง่าย เอาแต่ใจตนเอง ดื้อ ไม่ฟังใคร เป็นต้น ด้านพฤติกรรม ได้แก่ สีหน้าเคร่งเครียด ตาขวาง สายตาไม่เป็นมิตร อยู่ไม่นิ่ง กระสับกระส่าย หรือ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เป็นต้น
…
ปัญหาด้านสุขภาพจิตยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย คนรอบข้าง และสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่ายังมีผู้ป่วยจิตเวชอาจไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เนื่องมาจากการขาดโอกาสและการสนับสนุนในสังคม ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการก่อเหตุความรุนแรง
ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องพบเจอโดยไม่คาดคิดเมื่อเจอผู้ป่วยจิตเวช ควรโทรแจ้งประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเข้ามาระงับเหตุ หรือ เข้าควบคุมผู้ป่วยจิตเวช ที่เสี่ยงต่อการกระทำความรุนแรงในสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและบำบัดตามขั้นตอนต่อไป
ข้อมูล :
- กรมสุขภาพจิต