วันที่ 8 ตุลาคม 2565 หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บยสส.) รุ่นที่ 2 ร่วมกับสถาบันอิศรา จัดสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ “คอนเทนต์คุณภาพกับโอกาสเติบโตในสมรภูมิเรตติ้ง” เสนอนวัตกรรมและแนวทางต้นแบบเพื่อตอบโจทย์วงการสื่อมวลชนของไทยได้สามารถและดำเนินผลิตเนื้อหาสาระที่มีคุณภาพให้ผู้ชม พร้อมทั้งได้รับเกียรติจาก “วัชร วัชรพล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค มาร่วมให้มุมมองและข้อเสนอแนะนำไปสู่การปลดล็อกจาก “กับดักเรตติ้ง” ของวงการสื่อ โดยมี “ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี” ผู้อำนวยการหลักสูตร บยสส.รุ่นที่ 2 เป็นประธานเปิดงาน งานนี้มีได้รับความสนใจจากประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา และผู้ที่สนใจมารับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นประมาณ 200 คน ณ ห้องคอนเวนชันฮอลล์ 2 อาคาร D สถานีโทรทัศน์ Thai PBS พร้อมถ่ายทอดสดผ่านทางเพจ “Thai PBS”
รศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์ ประธาน บยสส.รุ่นที่ 2 กล่าวว่า การจัดสัมมนาสาธารณะในหัวข้อ “คอนเทนต์คุณภาพกับโอกาสเติบโตในสมรภูมิเรตติ้ง” เป็นเวทีนำเสนอ และแบ่งปันแนวทาง หรือนวัตกรรมของผู้เข้าอบรม บยสส.รุ่นที่ 2 นำไปสู่การสร้างสรรค์เนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และองค์กรสื่อยังสามารถอยู่รอดได้ แบบ win-win รวมทั้งรับฟังมุมมอง และแนวคิด ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้นำองค์กร นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องในองค์กรสื่อมวลชน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการสื่อสารมวลชนของไทย ผู้เข้าอบรม บยสส.รุ่นที่ 2 ได้นำกระบวนคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking มาช่วยวิเคราะห์ปัญหาเชิงลึกของสื่อในปัจจุบัน ซึ่งพบตรงกันว่า จากพัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เกิดแพลตฟอร์มการนำเสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นใหม่และมีหลากหลายรูปแบบ องค์กรสื่อต้องพยายามอย่างหนัก จึงเป็นที่มาของการผลิตและนำเสนอเนื้อหาที่ดึงดูดผู้ชมและมีรายได้เพิ่มขึ้น จนทำให้บางครั้งละเลยบทบาทหน้าที่หลักในการนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคม
รศ.ดร.อรพรรณ กล่าวเสริมว่า เวทีสัมมนาในครั้งนี้ กลุ่มผู้เข้าอบรม บยสส.รุ่นที่ 2 ได้นำเสนอแนวคิดใหม่ และผลงานต้นแบบ ในการที่จะช่วยให้องค์กรสื่อหลุดจาก “กับดักเรตติ้ง” เพื่อให้องค์กรสื่อสามารถดำรงอยู่และเดินหน้าต่อได้แบบมั่นคง ควบคู่กับการรักษาบทบาทการเป็นที่พึ่งด้านข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ ตลอดจนให้ความบันเทิงที่สร้างสรรค์ เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมอุดมปัญญา และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตัวแทนผู้เข้าอบรม หลักสูตร บยสส.รุ่นที่ 2 ร่วมนำเสนอแนวคิดนวัตกรรมและผลงานต้นแบบที่คิดค้นและพัฒนาขึ้น เพื่อตอบโจทย์ painpoint ของวงการสื่อ เรื่องคุณภาพ และเรตติ้ง ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดหรือขยายผลปรับใช้ได้ ได้แก่
- “The Premium” คนสื่ออยู่ได้ คนอ่านยอมจ่าย เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ พัฒนาแอปพลิเคชั่นที่กลุ่มเป้าหมายจ่ายเงินเพื่ออ่านข้อมูลข่าวสาร เช่นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อย่าง Netflix หรือแอปพลิเคชั่นนิยายออนไลน์ เริ่มต้นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ นักศึกษา ทำคอนเทนต์พรีเมียมที่หาอ่านจากสื่อออนไลน์ไม่ได้ และเป็นประโยชน์กับผู้อ่านสามารถเอาไปต่อยอดหรือใช้งานต่อได้ นอกจากนี้ เจ้าของธุรกิจสามารถต่อยอดนำเนื้อหาในแอปไปผลิตเป็นสื่อรูปแบบอื่นๆ หรือจัดอีเว้นท์ สร้างรายได้เพิ่มเติมได้อีกด้วย
- ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ เป็นแนวทางที่พัฒนาขึ้นจากความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ส่งผลให้เด็กมีช่องทางในการเปิดรับสื่อหลากหลายขึ้น และสามารถเลือกเนื้อหาได้เอง เรตติ้งต้องอาศัยการวัดที่หลายมิติ โดยเฉพาะ วัดจากการ feedback ของผู้ชมแบบเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้ซื้อโฆษณาเห็นว่าใครเป็นผู้ชมรายการ มีความชอบหรือมีความเห็นต่อรายการนั้นๆ เป็นต้น
- คอนเทนต์แพลตฟอร์ม OTT และ คอนเทนต์ทีวี ร่วมกันอย่างไร ท่ามกลางการเติบโตของแพลตฟอร์ม OTT ความแตกต่างของคนแต่ละ generation คนผลิตเนื้อหาโทรทัศน์จะปรับตัวให้สามารถเชื่อมต่อกับ OTT ซึ่งช่องทาง การสร้างเนื้อหาที่เป็นจุดร่วมระหว่างคนแต่ละช่วงวัย ผลิตเนื้อหาแบบ Event television ที่ทุกคนดูได้พร้อมกัน นำไปสู่การ cross ระหว่างแพลตฟอร์ม และก่อให้เกิดรายได้ ปัจจัยสำคัญ คือ การปรับปรุงเรื่อง กฎระเบียบ ที่ยังเหลื่อมล้ำกันระหว่างแพลตฟอร์ม
- Application “คนข่าว” แพลตฟอร์มสนับสนุนการนำเสนอข่าวที่มีคุณภาพ โดยให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะ ตักเตือน และส่งเรื่องร้องเรียนการทำงานที่ไม่เหมาะสมของสื่อได้ที่หน่วยงานที่กำกับดูแล พร้อมติดตามผล และมีการดำเนินงานอย่างไร มีส่วนช่วยขจัดปัญหาข่าวที่ไม่ได้คุณภาพ และจะเกิดขึ้นได้จริงหากวงการสื่อพร้อมรับฟังเสียงของประชาชนมากกว่าฟัง เรตติ้ง
- การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ต่อยอดให้สร้างสรรค์ข่าวตามความสนใจของผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว“น้องสาระ”จะช่วยสร้างสรรค์การอ่านข่าวตามความสนใจของผู้ชมผ่าน 4 ขั้นตอนง่ายๆ ตั้งแต่ การเลือกคอนเทนต์ที่ต้องการ สร้างเสียงพูดตามเสียง เลือกหน้าตาอวตาร และเผยแพร่คลิป ก็ได้ข่าวที่อ่านโดยเสียงและคนที่ชอบ
ขณะเดียวกัน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้มุมมองในฐานะเป็นตัวแทนผู้บริโภคแสดงความเป็นห่วงกังวลต่อการนำเสนอข่าวทุกวันนี้ที่ให้ความสนใจเรื่องของเรตติ้งมากกว่าคุณภาพของเนื้อหา เรียกร้องให้องค์กรสื่อ และผู้ผลิตข่าวพัฒนาคุณภาพเนื้อหาข่าวเพื่อเป็นการปลดล็อคเรตติ้ง
“เรตติ้งคู่กับคุณภาพได้ คนดูต้องการคอนเทนต์คุณภาพ แต่ขณะนี้เหมือนกับผู้สื่อข่าวยอมจำนน สื่อ..ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้บริโภค สังคม และสามารถทำให้สนุกได้ อย่างเรื่องคังคูไบ ทำให้เราเห็นว่าคุณภาพ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างเรตติ้ง” สารี กล่าว
ในมุมมองของผู้บริโภค สื่อต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับผู้บริโภค สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ ต้องหาประเด็นที่น่าสนใจตอบโจทย์ผู้บริโภค อย่างการรายงานข่าวอาชญากรรม สื่อนำเสนอในเชิงเป็น ดราม่ามากกว่า แทนการหาสาเหตุของปัญหา “ผู้สื่อข่าวปัจจุบันเน้นทำตัวเป็นตำรวจมากกว่า ใครหาคนผิดได้ก่อนช่องนั้นเก่ง แต่จริงๆ สื่อควรทำหน้าที่สื่อหาต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมากกว่า” นางสาวสารีเพิ่มเติม
ด้าน นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด กล่าวว่า ความจริงการบาลานซ์ระหว่างคุณภาพเนื้อหากับเรตติ้ง เป็นสิ่งที่สื่อในบ้านเราเผชิญมาตลอดการพัฒนาคุณภาพสาระ กับคอนเทนต์ที่สร้างรายได้ ดังนั้น ในมุมมองผู้ผลิตคอนเทนต์ ต้องเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับช่วงเวลา อะไรเป็นประโยชน์กับประชาชน เช่น การรายงานข่าวในประเด็นที่ต้องยืนหยัดกับประชาชน
ขณะที่ รศ. พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรตติ้งเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งของวงการทีวีไทย และจากสถานการณ์ปัจจุบัน วงการโทรทัศน์เผชิญกับความท้าทาย แบ่งเป็นสองด้าน ด้านแรกระบบโทรทัศน์แบบเดิม อีกด้านหนึ่งคือสตรีมมิ่ง แพลตฟอร์มดิจิทัลกำลังมาแรง เม็ดเงินโฆษณากำหนดมาเหล่านี้ทั้งนั้น ในอนาคตเรากำลังหา business โมเดลใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาสปอนเซอร์ หรือระบบสมาชิกก็ตาม
“ในเชิงวิชาการสื่อเป็นสินค้าที่กระทบวิธีคิดของคนสื่อต้องเป็นตะเกียงนำแสงทาง ไม่ใช่แค่กระจกสะท้อนวิธีคิดสังคม และที่สำคัญเราเห็นประชาชนลุกขึ้นมาเป็นตะเกียงนำทางให้สื่อ” รศ. พิจิตรากล่าว
รศ. พิจิตรา กล่าวถึงเหตุการณ์ล่าสุดในจังหวัดหนองบัวลำภูว่า การรายงานข่าวของสื่อมวลชนครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำงานที่รวดเร็ว และไม่มีภาพอะไรที่น่าหวาดเสียวออกมา ซึ่งถือได้ว่าตอนนี้เรากำลังยกระดับมาตรฐานจรรยาบรรณทั่วไปได้ดี ซึ่งมองว่าจะเป็นบรรทัดฐานการรายงงานข่าวคุณภาพได้ดีเหตุการณ์หนึ่ง
สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินหลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บยสส.) เป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้องค์กรสื่อด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และนำเสนอแนวคิดหรือโครงการที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อวงการสื่อรวมถึงสังคมโดยรวม