คัดลอก URL แล้ว
“Winter Is Coming” วิกฤติพลังงานในยุโรป สู่วิกฤติในธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ

“Winter Is Coming” วิกฤติพลังงานในยุโรป สู่วิกฤติในธุรกิจต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ

KEY :

“Winter Is Coming” ประโยคเด็ดในซีรีส์ชื่อดังอย่าง Game of Thrones ที่กำลังกลายเป็นประโยคที่ถูกพูดถึงในโลกอย่างมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่มีวี่แววจะสิ้นสุด และการคว่ำบาตรที่ยังคงมีแนวโน้มที่จะยกระดับมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางความวิกฤติพลังงานที่กำลังส่งผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่เพียงในพลังงานในภาคครัวเรือนเท่านั้น แต่ภาคธุรกิจกำลังแบกรับราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และกำลังดึงเศรษฐกิจของยูโรปให้ถดถอยลงต่อเนื่อง

รัสเซียคือแหล่งพลังงานสำคัญของยุโรป

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมารัสเซียคือผู้จัดหาพลังงานรายใหญ่ที่สุดของยุโรป ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน รวมถึงถ่านหิน ในราคาย่อมเยาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อรัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ทำให้สหภาพยุโรป ประกาศคว่ำบาตรต่อรัสเซีย และพลังงานเป็นหนึ่งในรายได้หลักของรัสเซีย ซึ่งยุโรปคาดว่า จะเป็นการตอบโต้ที่รุนแรงต่อรัสเซีย

โดยการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นในช่วงที่ยุโรปได้ผ่านพ้นช่วงฤดูหนาวไปแล้ว และหลายฝ่ายก็ไม่คาดคิดว่า การสู้รบที่เกิดขึ้นจะยาวนานจนกระทั่งฤดูหนาวรอบใหม่กำลังกลับมาอีกครั้ง ซึ่งแม้ว่า จะมีการหาพลังงานทดแทนจากแหล่งอื่น ๆ แต่ยุโรปก็เผชิญกับ “ราคาที่ต้องจ่าย” สูงขึ้นอย่างมาก

วิกฤติในวิกฤติ

พลังงานไฟฟ้าในยุโรปหลายประเทศ พึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในประเทศ ควบคู่กับพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เช่นพลังงานน้ำ และนิวเคลียร์ แต่ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา หลายประเทศในยุโรปเผชิญกับคลื่นความร้อนอย่างรุนแรง

และเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมาย นั่นทำให้การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ ไม่ได้มากอย่างที่คิดว่า และสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทา นั่นยิ่งทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นต่อเนื่อง

นั่นจึงเป็นสาเหตุให้รัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศออกมาตรการประหยัดพลังงานมาบังคับใช้ เช่น การกำหนดช่วงเวลาการเปิด-ปิดไฟประดับสถานที่สำคัญต่าง ๆ การกำหนดอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศไม่ให้ร้อน-เย็นเกินไป ฯลฯ ควบคู่กับการเร่งสำรองพลังงานก๊าซให้ได้มากที่สุด เพื่อหวังว่า จะสามารถผ่านฤดูหนาวปีนี้ไปให้ได้

ยามแลนด์มาร์กหลายแห่งในหลายเมืองของเยอรมนีต้องปิดไฟ เพื่อประหยัดพลังงาน
(ภาพ – ซินหัว)

ค่าพลังงานที่แพงขึ้นกระทบกว้างขึ้น

จากราคาค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น กำลังส่งผลให้เศรษฐกิจของยุโรปได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน และก๊าซ เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุโรป

กลุ่มธุรกิจอาหาร

สำหรับในกลุ่มธุรกิจอาหาร จำเป็นต้องใช้ก๊าซในการประกอบอาหาร โดยเฉพาะอาหารในกลุ่มเบอเกอรี่ ที่จำเป็นต้องให้การอบขนมปังเป็นเวลานานในอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นราคาก๊าซที่แพงขึ้น ย่อมหมายถึงต้นทุนของขนมปังที่เป็นส่วนประกอบหลักในอาหารมีราคาที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ราคาต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับเบเกอรี่ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากหากเทียบกับปีก่อน เช่น เนยเพิ่มขึ้น 80% นมผงเพิ่มขึ้น 50% และชีส เพิ่มขึ้น 43%

ราคาสินค้าเกษตรเดือน ส.ค. 2022

นอกจากนี้ ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นยังกระทบต้นทุนภายในร้าน เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าสำหรับตู้เย็นเพื่อเก็บอาหาร, แสงสว่างภายในร้าน และเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว นั่นหมายถึงการปรับอุณหภูมิให้อบอุ่นพอที่ลูกค้าจะนั่งรับประทานในร้านด้วย

ร้านอาหารในบรัสเซลส์ของเบลเยียมบางร้าน จึงเลือกการประหยัดพลังงานด้วยปรับเปลี่ยนบรรยากาศย้อนยุค มีการใช้เทียนและตะเกียงให้แสงสว่างภายในร้าน เน้นอาหารจำพวกย่างที่ใช้เตาย่าง หรืออบจากเตาอบที่ใช้ฟืนแทน โดยระบุว่า แม้ไม่มีเตาอบไฟฟ้า ไม่มีจานร้อน ไม่มีเครื่องชงกาแฟ หรือหลอดไฟ แต่ก็ยังคงมีอาหารที่ดีได้ เพื่อพลิกวิกฤติพลังงานเป็นโอกาสของการปรับตัวในครั้งนี้

แม้จะลดต้นทุนที่สูงขึ้นได้ แต่ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวจากโควิด และรายจ่ายค่าพลังงานในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น นั่นยิ่งทำให้ร้านอาหารขายได้น้อยลง ส่งผลต่อกำไรที่ลดลงตามไปด้วย และคนจำนวนไม่น้อยก็เลี่ยงที่จะไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน

ไนท์คลับ-บาร์ กระทบหนัก

นอกจากร้านอาหารแล้ว ธุรกิจกลางคืนอย่างไนท์คลับ บาร์ ต่าง ๆ ได้รับผลกระทบที่หนักหน่วงกว่า เนื่องจากสถานบริการเหล่านี้ ต้องเปิดให้บริการในช่วงกลางคืน ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้ามากกว่าร้านอาหารที่เปิดในช่วงกลางวัน รวมถึงแสง-สี-เสียง ภายในร้าน ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น

ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นก้าวกระโดดยิ่งทำให้ธุรกิจสถานบันเทิงเหล่านี้ ซบเซาลงอย่างมาก เนื่องจากการปรับราคาที่สูงขึ้นก็ส่งผลให้ลูกค้าลดน้อยลง และหลายร้านยังเผชิญปัญหาทางด้านการเงินที่สะสมมาในช่วงโควิด-19 ที่ต้องปิดให้บริการอีกด้วย

อาคารในเมืองฮาร์เลมของเนเธอร์แลนด์ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บริเวณหลังคา เพื่อค่าไฟฟ้า
(ภาพ – Sylvia Lederer/Xinhua)

ธุรกิจเครื่องแก้วสู่จุดวิกฤติ

หนึ่งในธุรกิจสำคัญของยุโรป และเป็นสินค้าสำคัญชนิดหนึ่งคือ อุตสาหกรรมเครื่องแก้ว ซึ่งจำเป็นต้องใช้ก๊าซปริมาณมหาศาลในการหลอมทรายให้กลายเป็นแก้ว เพื่อผลิตเครื่องแก้วต่าง ๆ ซึ่งตลอดทั้งกระบวนการผลิตล้วนแล้วแต่ต้องใช้อุณหภูมิสูงอย่างมาก

โรงงานกระจก Arc International ได้ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์คไทม์ ระบุว่า จากราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ต้องปิดเตาเผาจำนวน 4 จาก 9 เตาที่มีอยู่ พนักงานราว 1 ใน 3 ต้องให้พักงาน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

ซึ่งแม้ว่า จะมีแผนในการปรับลดการผลิตลง แต่การปิดเตาเผาที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,500 องศาเซลเซียสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องค่อย ๆ ลงอุณหภูมิลง เพื่อรักษาสภาพเตาไว้ ไม่ให้พังเสียหาย ในขณะที่การจะจุดเตาที่ดับไปแล้วก็เป็นเรื่องที่ยากไม่น้อยกว่ากัน

นอกจากนี้ เมื่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ผู้คนลดการซื้อเครื่องแก้วต่าง ๆ ลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และเก็บเงินไว้จ่ายค่าพลังงานในฤดูหนาวนี้ ยิ่งทำให้ยอดขายลดลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจเครื่องแก้วต่าง ๆ

อุตสาหกรรมหนักกระทบไม่แพ้กัน

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมหนักอีกหลายส่วนก็ได้ผลกระทบไม่ต่างกับเครื่องแก้ว เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก สังกะสี อลูมิเนียม ในหลายประเทศทั้งในเยอรมนี, เนเธอแลนด์ ที่จำเป็นต้องใช้ทั้งพลังงงานก๊าซในการหลอมโลหะ รวมถึงราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน หลายโรงงานตัดสินใจหยุดการผลิตชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด จนกว่า ราคาพลังงานจะกลับมาอยู่ในจุดที่คุ้มทุนพอที่จะดำเนินการได้อย่างมีกำไรอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเหล็ก อลูมิเนียม มีต้นทุนที่สูงขึ้น ก็ส่งผลกระทบต่อไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น รถยนต์ ที่จำเป็นต้องใช้สิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุดิบในการผลิต และกระทบกันไปเป็นทอด ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นอาจจะควบรวมไปถึงอุตสาหกรรมด้านการทหารที่จำเป็นต้องใช้เหล็กในการผลิตด้วยนั่นเอง

ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นต่อเนื่องจากช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีมาตรการต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมเช่น การล็อกดาวน์ การทำงานที่บ้าน การลดจำนวนพนักงานเพื่อรักษาระยะห่าง และเมื่อยิ่งเผชิญกับวิกฤติด้านพลังงาน นั่นยิ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้นไปอีก

ธุรกิจอื่น ๆ ก็ลำบากไม่แพ้กัน

นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ปุ๋ย ที่จำเป็นต้องใช้ก๊าซในเป็นวัตถุดิบ ก็ประกาศระงับการผลิตชั่วคราว ในหลายประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น Yara เลือกที่จะหยุดการผลิตในโรงงานบางแห่งในยุโรป และเพิ่มกำลังผลิตในประเทศอื่นแทน เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหายไป

แต่นั่นก็ยังหมายถึง ปุ๋ยในตลาดของยุโรปจะแพงขึ้นทั้งจากกำลังผลิตที่ลดลง และค่าขนส่งที่แพงขึ้น โดยขณะนี้พบว่า ราคาพุ่งสูงขึ้นไปแล้ว 60% เมื่อเทียบกับปีก่อน และส่งผลต่อต้นทุนในภาคเกษตรที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวอีกด้วย เกษตรกรจำนวนมากจึงเลือกที่จะหยุดการเพาะปลูก

ในประเทศเนเธอแลนด์ ราคาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรที่ต้องใช้เรือนกระจกในการปลูก เนื่องจากเรือนกระจกเหล่านี้ ต้องพึ่งพาไฟฟ้าในการสร้างความอบอุ่น และให้แสงสว่างแก่พืชทั้งไม้ผล และไม้ดอก ซึ่งยิ่งในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง โรงเรือนกระจกเหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องให้ความร้อนแก่พืชมากกว่าปรกติ ดังนั้น ต้นทุนจึงเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่กำลังสินค้าลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มดอกไม้ ที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต จึงทำให้ผู้คนเลือกที่จะลดการซื้อลงและใช้เงินสำหรับซื้ออาหารหรือพลังงานแทน

(ภาพ – Travis Leery)

นอกจากนี้ อุตสหกรรมยา เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่จำเป็นและต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นเช่นกัน กลุ่มธุรกิจผลิตยาและสินค้าเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ร้องขอมาตรการช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป เพื่อช่วยเหลือให้สามารถผลิตยาและเวชภัณฑ์ต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นราคาสินค้า รวมถึงการหยุดการผลิตยาสามัญบางชนิดลงเพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจไว้

นอกจากนี้ หากไม่สามารถลดต้นทุนลงได้ นั่นหมายถึงราคายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ก็จะมีราคาสูงขึ้น และย่อมส่งผลกระทบให้ประชาชนชาวยุโรปต้องเผชิญกับราคายาที่แพงขึ้นนั่นเอง

ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่า หลายชาติในยุโรประบุว่า สามารถสำรองก๊าซได้เพียงพอที่จะผ่านฤดูหนาวนี้ไปได้ แต่ยุโรปก็มี “ราคา” ที่ต้องแบกรับต่อไป และยังต้องหาทางแก้วิกฤติเศรษฐกิจต่อไปอีกพักใหญ่ทีเดียว


ข้อมูล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง