KEY :
- ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการเกี่ยวกับการปรับปรุงการเปิดเผยความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี และการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล
- สาระสำคัญ อาทิ การให้ผู้ประกอบธุรกิจประเภทศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี ต้องแสดงข้อความเตือนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แก่นักลงทุน หรือ ลูกค้าที่ใช้บริการ / การกำหนดมูลค่าการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลต่อธุรกรรมขั้นต่ำ 5,000 บาท
- ทาง ก.ล.ต. ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานหรือบุคคลที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการดังกล่าว ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 17 ต.ค.65
- หลักเกณฑ์ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ 30 วันนับแต่วันที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา
ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า ‘คริปโตฯ’ หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่ได้รับความสนใจทั่วโลก โดยในประเทศไทยมีนักลงทุนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่หมุนเวียนสับเปลี่ยนเข้าออกในวงการนี้อย่างต่อเนื่อง หรือ แม้กระทั่งผู้ประกอบการทำกระดาน Exchange ที่ทยอยเปิดตัวเข้าร่วมวงในโลกคริปโตฯ ซึ่งถือได้ว่าสามารถสร้างเม็ดเงินได้จำนวนมหาศาลจากนักลงทุนที่เข้ามาใช้บริการ
แต่กระนั้นในวงการคริปโตฯ ก็ไม่ใช่ว่าจะสวยหรูไปหมดเสียทุกอย่าง อย่างที่ทราบกันดีว่า ‘การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง’ เมื่อมีคนได้ก็ย่อมมีคนเสีย ทุกอย่างในโลกคริปโตฯนั้น เชื่อมโยงอ้างอิงตามสถานการณ์ทั่วโลก จึงทำให้ตลาดเกิดความผันผวนไปตามช่วงกระแส อาทิ สภาพเศรษฐกิจทั่วโลก การเกิดโรคติดต่ออย่างโควิด-19 หรือ สภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างเกิดข้อกังวล จนเคยมีกระแสแนวคิดการถือเงินสดมากกว่าการถือสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ความเสี่ยงในการซื้อ-ขาย คริปโตฯ นั้น เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผู้ที่สนใจอยากลงทุน แต่ขาดความรู้ความเข้าใจ อิงตามกระแสจนเกิดความเสียหายสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก แต่ที่เคยปรากฏเป็นข่าวอย่างเหรียญ Luna อภิมหาโปรเจกของ Terra ก็ดับฝันของนักลงทุนกันไปเป็นแถว ๆ
อย่างไรก็ตามในบ้านเรานั้น มีหน่วยงานที่กับกำดูและการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ นั้นก็คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ซึ่งล่าสุดได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงการเปิดเผยความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล
เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ซื้อขายจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ การลงทุนและการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุน และสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ รวมถึงได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างเพียงพอ
ปัญหาใน ‘ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล’ ในช่วงที่ผ่านมา
จากการสำรวจของ ก.ล.ต. พบว่าคริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานหรือกิจการใด ๆ รองรับ การซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล จึงมักเป็นเพียงการเก็งกำไรและราคามีความผันผวนสูง ทำให้อาจมีความเสี่ยงในระดับที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนทั่วไป อย่างไรก็ดีกลไกการกำกับดูแลการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ซื้อขายน้อยกว่าผลิตภัณฑ์เสี่ยงสูงอื่น ๆ ในตลาดทุนที่มีการกำกับดูแลการให้ข้อมูลเข้มงวดกว่า
อีกทั้งการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศมีทิศทางที่จะเปิดให้ผู้ลงทุนที่มีความสามารถรับความเสี่ยง ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยจำกัดการเข้าถึงการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย
การกำกับดูแลการซื้อขาย ‘คริปโตฯ’ ในปัจจุบัน
ปัจจุบันหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการให้บริการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีประยุกต์ มาจากการกำกับดูแลผู้ให้บริการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน โดยผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เช่น การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจและบริการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจใช้บริการของผู้ซื้อขาย การทำความรู้จักตัวตนลูกค้า (KYC/CDD) การจัดประเภทลูกค้า การประเมินความเหมาะสมในการลงทุน (suitability test) เป็นต้น ก่อนการให้บริการแก่ผู้ซื้อขาย เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการที่มีความเสี่ยงสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ผู้ซื้อขายยอมรับได้
นอกจากนี้ ผู้ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีจะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติด้านความรู้ โดยต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- 1) เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีอยู่แล้ว
- 2) ผ่านการอบรมความรู้เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีหรือ
- 3) ผ่านการทดสอบความรู้เกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี (knowledge test)
รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดให้มีคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดสรรเงิน และกำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมให้ผู้ใช้บริการทราบ ก่อนเริ่มให้บริการแก่ผู้ซื้อขาย
ทาง ก.ล.ต. จึงเสนอหลักการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อให้การกำกับดูแลเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบหลักการดังกล่าว ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการที่ได้รับความเห็นชอบ
ทิศทางการกำกับดูแล ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ในต่างประเทศ
การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ สำนักงาน ก.ล.ต. พบว่ามีทิศทางที่จะเปิดให้ผู้ซื้อขายที่มีความสามารถในการรับความเสี่ยง ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้และจำกัดการเข้าถึงการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย อาทิเช่น
- Securities and Futures Commission (SFC) ฮ่องกง : กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีการให้บริการเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีโดยมีหลักเกณฑ์จำกัดการให้บริการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีให้แก่สถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลของฮ่องกง อยู่ระหว่างขยายขอบเขตกำกับดูแลในลักษณะเดียวกันให้ครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีที่ไม่มีบริการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วย
- Monetary Authority of Singapore (“MAS”) สิงคโปร์ : ได้มีการเตือนผู้ลงทุนรายย่อยเกี่ยวกับการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้มีการจำกัดช่องทางการโฆษณาคริปโตเคอร์เรนซีโดยห้ามโฆษณาในพื้นที่สาธารณะ และกำหนดให้โฆษณาได้เฉพาะในช่องทางทางการของผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น โดยล่าสุดมีแนวคิดที่จะเพิ่มการจำกัดการเข้าถึงการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีเพิ่มเติม ซึ่ง MAS อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าว
แนวทางปรับปรุงการกำกับการซื้อขาย ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ของทาง ก.ล.ต.
ตามคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 มีมติเห็นชอบหลักการทบทวนแนวทางการกำกับดูแลการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีและหลักการการกำหนดมูลค่าการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลขั้นต่ำ (minimum purchase) ทั้งนี้ เพื่อให้แนวทางการกำกับดูแลมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับทางปฏิบัติสำนักงาน ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นการทั่วไปในครั้งนี้
โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะคริปโตเคอร์เรนซี จะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุน และมีความสามารถในการรับความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ โดยได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างเพียงพอ
ปรับปรุงแนวทางกำกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนี้
1.ผู้ประกอบธุรกิจประเภทศูนย์ซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี นายหน้าซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี และผู้ค้าคริปโตเคอร์เรนซี จะต้องเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนเนื่องจากผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง และ มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน มีความแตกต่างจากการลงทุนหรือใช้บริการกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนทั่วไป พร้อมกับการแจ้งผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุน และการจัดสรรและกำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม (basic asset allocation) ให้ลูกค้าทราบก่อนใช้บริการ โดยมีข้อความดังนี้
“คริปโตเคอร์เรนซีไม่ได้มีการกำกับดูแลการออกและเสนอขายตามกฎหมายของประเทศไทย และมีราคาผันผวนสูงโดยอาจไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ท่านอาจสูญเสียเงินของท่านทั้งจำนวน”
ทั้งนี้ ข้อความคำเตือนดังกล่าวต้องสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน มีความคมชัด และให้พิจารณาเลือกใช้โทนสีที่มีความแตกต่างจากสีพื้นหลังหรือใช้ตัวอักษรหนา
2.ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องกำหนดมูลค่าการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลต่อธุรกรรมขั้นต่ำ 5,000 บาท (ยกเว้น โทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ เช่น โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) เป็นต้น
เนื่องจากมีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด โดยการพิจารณามูลค่า จะพิจารณาจากการซื้อด้วยเงินบาทเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และไม่รวมถึงการแลกเปลี่ยนกันระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมกันนี้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งให้ผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลทราบถึงการกำหนดมูลค่าการซื้อขายต่อธุรกรรมขั้นต่ำตามหลักการข้างต้นด้วย
สำหรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ 30 วันนับแต่วันที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา
***หมายเหตุ : การกำหนดขั้นต่ำมีผลเฉพาะการซื้อด้วยเงินบาท ไม่รวมถึงการขายและการแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน
…
อย่างไรก็ตามทาง ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลดังกล่าว ไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail ได้จนถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2565
ท้ายสุดนี้ทุกการลงทุนในโลกคริปโตฯ ล้วนขึ้นอยู่กับผู้ลงทุนเป็นหลัก การศึกษาข้อมูลในเหรียญต่าง ๆ ที่ท่านสนใจ มากกว่ากระแสตามเสียงเชียร์ย่อมส่งผลดีกว่า ไม่เช่นนั้นจากจะหวังกำไรจะกลายเป็น ‘เจ๊ง’ เอาเสียง่าย ๆ เพราะในโลกคริปโตฯ อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ
ข้อมูล :
- ก.ล.ต.