คัดลอก URL แล้ว
[สรุปคำฟ้อง-คำพิจารณา] หลังศาลฯ ยกฟ้อง สุเทพกับพวก ในคดีฮั้วประมูลก่อสร้างโรงพัก

[สรุปคำฟ้อง-คำพิจารณา] หลังศาลฯ ยกฟ้อง สุเทพกับพวก ในคดีฮั้วประมูลก่อสร้างโรงพัก

ประเด็นสำคัญที่ ป.ป.ช.ฟ้อง :

ประเด็นสำคัญที่ศาลฯ พิจารณา :

ในวันนี้ (20 ก.ย.) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผบ.ตร. พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดเเทน และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก

คำฟ้องโดยสรุป

ในคดีนี้ ป.ป.ช. ได้ฟ้องจำเลยทั้ง 6 โดยฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้ขออนุมัติหลักการในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารสถานีตำรวจทดแทน 396 หลัง โดยยกเลิกแนวทางการเสนอราคาแยกเป็นรายภาค (ภาค 1 – 9) โดยมีให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการประกวดราคาทางอิเลคทรอนิกส์เป็นรายภาค ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 6,298 ล้านบาท และขออนุมัติให้กองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานดูแลทุกอาคารในครั้งเดียว โดย เสนอต่อจำเลยที่ 1 (นายสุเทพ) ได้อนุมัติตามที่จำเลยที่ 2 เสนอ

และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เสนอเรื่องนี้ให้นายกฯ นำเรื่องนี้เข้าสู่ ครม. เพื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงการจัดจ้างโครงการนี้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่กระทบการจัดจ้าง โดยมีวงเงินที่สูงกว่าราคากลาง ที่กำหนดไว้ 6,100 กว่าล้านบาท การกระทำของจำเลยที่ 1-2 นี้ เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 นั้น มีหน้าที่ในคณะกรรมการประกวดราคา ที่จะต้องตรวจสอบวัสดุและราคาในการก่อสร้างของจำเลยที่ 5 (บริษัทก่อสร้าง) ที่เสนอโดยจำเลยที่ 6 ว่าครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่

การกระทำของจำเลยที่ 3 และ 4 เป็นการร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการที่ไม่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการประกวดราคา โดยเอื้อให้กับจำเลยที่ 5 และ 6 ได้รับการคัดเลือก

ส่วนจำเลยที่ 5 และ 6 นั้น ป.ป.ช. ฟ้องว่า จำเลยที่ 5 (บริษัท) ที่เสนอโดยจำเลยที่ 6 ไม่ได้มุ่งหมายให้มีการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เอื้อประโยชน์ จากส่วนต่างในกรณีที่มีการเพิ่ม-ลดงานตอกเสาเข็มตามแบบก่อสร้าง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือ/ให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 3 – 4 ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการประกวดราคา

ซึ่งจำเลยทั้ง 6 ให้การปฏิเสธ

สรุปการพิจารณาของศาลฯ

ศาลฎีกา ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า จากเอกสารต่าง ๆ นั้น บันทึกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เสนอเรืื่องขออนุมัติต่อนายกฯ ก่อนนำเสนอครม. พิจารณา โครงการสร้างสถานีตำรวจทดแทน เป็นโครงการผูกพันงบประมาณ 3 ปี ในปีงบประมาณ 2552-2554 เป็นไปตามระเบียบ และมีการขอเปลี่ยนรูปแบบจากการแปลงสินทรัพย์ เป็นวิธีการจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายประจำปีเท่านั้น

แต่ไม่ได้รวมถึงรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นการกระทำความผิดโดยมิชอบ จำเลยที่ 1 (นายสุเทพ) จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

ในทางไต่สวนข้อเท็จจริง ได้ความว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงการจัดจ้างนั้น ได้รับการพิจารณาเหตุผลความจำเป็นทางด้านของข้อกฎหมาย และมีการเสนอขึ้นมาตามลำดับขั้นการบังคับบัญชา จนกระทั่งมาถึงจำเลยที่ 2

ซึ่งการเสนอขึ้นมานั้นก็ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการมาโดยลำดับ จึงไม่ปรากฎว่า จำเลยที่ 2 ใช้อำนาจครอบงำการเปลี่ยนแปลงวิธีจัดจ้าง หรือมีพฤติกรรมมิชอบแต่อย่างใด แม้ว่า จำเลยที่ 2 เสนอต่อ จำเลยที่ 1 (นายสุเทพ) โดยไม่ได้เสนอต่อนายกฯ เข้าครม. พิจารณาก็ตาม เป็นไปตามการเสนออนุมัติตามสายงาน

ไม่ว่า จำเลยที่ 1 (นายสุเทพ) จะอนุมัติหรือไม่ ก็ไม่มีผลต่อความเห็นชอบของจำเลยที่ 2 ในฐานะของหัวหน้าส่วนราชการ ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่การกระทำโดยมิชอบด้วยกฏหมาย ที่จะถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

ส่วนจำเลยที่ 3-4 เป็นกรรมการในโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน 396 หลัง มีหน้าที่ต้องนำบัญชีวัสดุและราคาการก่อสร้าง เสนอต่อคณะกรรมการประกวดราคาพิจารณา แ่ต่จำเลยที่ 3-4 ไม่ได้นำปัญชีแสดงปริมาณวัสุดและราคาในการก่อสร้างเสนอต่อคณะกรรมการ ในส่วนของรายการงานฐานรากที่เสนอกราคาการตอกเสาเข็ม มีราคาต่ำว่าราคากลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ซึ่งราคาที่จำเลยที่ 5 (บริษัท) ได้เสนอนั้นต่ำกว่าราคากลาง 540 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.45 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 15 ตามที่กำหนดไว้ในมาตรการป้องกันการสมยอมกันเสนอราคาตามมติครม. จึงไม่ถือว่า ไม่ใช่ราคาต่ำจนเกินสมควร ที่จะให้เห็นว่า ไม่อาจจะดำเนินการตามสัญญาได้ และราคารวมที่เสนอก็ไม่เกินจากราคาที่จำเลยที่ 5 (บริษัท) ในครั้งสุดท้าย

ในทางไต่สวน ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 3-4 กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ สำหรับตนเองและผู้อื่น และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3-4 มีเหตุอันควรรู้ว่าการเสนอราคาในครั้งนี้ มีการกระทำความผิด หรือ เป็นการกระทำที่มุ่งเน้นให้มีการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่จำเลยที่ 5 (บริษัท)

จำเลยที่ 3-4 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

และเมื่อรับฟังข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3-4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน กระทำความผิด จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 5 (บริษัท) และจำเลยที่ 6 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด

จำเลยที่ 5-6 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

พิจารณายกฟ้อง

ฉบับเต็ม


ภาพ – วิชาญ โพธิ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง