KEY :
- ตำรวจเข้าจับกุม นายธารา เจริญนาคา หรือ นายครรชิต แตงจุ้ย ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง
- พฤติกรรมคือ จะติดต่อซื้อทองรูปพรรณจากร้านทอง โดยขอโอนเงินเข้าบัญชี แต่หลอกด้วยการชำระเงินสั่งจ่ายด้วยเช็ค
- ซึ่งทางร้านจะเห็นยอดเข้า ซึ่งยอดของการเช็คธนาคาร แต่ไม่ใช่ยอดเงินสดที่เข้าบัญชีจริง
- นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ต้องหารายนี้ ยังคงมีหมายจับคดีเช็ค อีก 1 คดี รวมถึงมีประวัติในคดีความผิดอื่น ๆ อีก
…
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 กองบังคับการปราบปราม และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. และคณะ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.พชรเดช บุญฤทธิ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในสังกัด กก.1 บก.ป. และ กก.1 บก.ปทส.ได้ร่วมกันทำการจับกุมตัว นายธารา เจริญนาคา หรือ นายครรชิต แตงจุ้ย อายุ 62 ปี ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลจังหวัดมุกดาหาร ที่ 111/2565 ฉบับลงวันที่ 7 กันยายน 2565 ความผิดฐาน
โดยจับกุมได้บริเวณด้านหน้าที่พักภายในซอยวิภาวดี 40/2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 เวลาประมาณ 19.00 น.
ซึ่งพฤติกรรมของคนร้ายรายนี้ คือ นายธารา เจริญนาคา หรือ นายครรชิต แตงจุ้ย กับพวก ได้ไปติดต่อขอซื้อทองรูปพรรณจากร้านทอง และจะชำระเงินด้วยการสั่งจ่ายเป็นเช็คธนาคาร โดยผู้ต้องหาจะขอหมายเลขบัญชีธนาคารของผู้เสียหายไป แล้วจะออกอุบายแจ้งกับร้านทองให้ทราบว่า เงินเข้าบัญชีแล้ว เมื่อร้านทองตรวจสอบไปที่ธนาคาร ในเวลาดังกล่าว ปรากฏข้อมูลแจ้งว่ามีเงินเข้าบัญชีของทางร้าน ร้านทองจึงได้มอบทองรูปพรรณให้กับผู้ต้องหาไป แต่หลังจากผู้ต้องหาได้ออกจากร้านไป จึงได้พบว่าไม่มียอดเงินจำนวนดังกล่าวเข้ามาในบัญชีธนาคารของทางร้านแต่อย่างใด
ซึ่งผู้ต้องหาได้อาศัยช่องว่างของการเคลียริ่งเช็คธนาคาร จะปรากฎยอดแจ้งว่ามีเงินเข้าบัญชีดังกล่าว แต่เป็นยอดเงินจากการจ่ายเช็คเคลียริ่ง ไม่ใช่เงินสดแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ร้านทองได้รับความเสียหาย เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองมุกดาหาร จนพนักงานสอบสวนสามารถรวบรวมพยานหลักฐาน ยื่นต่อศาลเพื่อออกหมายจับผู้ต้องหาได้
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการสืบสวนติดตามจับกุมตัว นายธารา หรือ นายครรชิต จากการสืบสวนพบว่า ได้หลบหนีมาพักอาศัยอยู่ที่พักภายในซอยวิภาวดี 40/2 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จึงได้เฝ้าติดตาม จนพบตัวนายธาราฯ เดินอยู่บริเวณสถานที่จับกุม จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ
อีกทั้งยังได้ทำการตรวจสอบ พบว่านายธาราฯ ยังมีหมายจับที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่อีก จำนวน 1 หมายจับ ได้แก่ ศาลจังหวัดหนองคายที่ 145/2565 คดีหมายเลขดำที่ อ 627/2565 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้” จากนั้นจึงนำตัวส่ง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองมุกดาหาร เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
จากการตรวจสอบประวัติ พบว่าผู้ต้องหามีประวัติการกระทำความผิดหลายคดี โดยเมื่อปี พ.ศ. 2542 ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการหายตัวไปของนายชัยรัตน์ หรือ “เสี่ยติงนัง” พนักงานต้อนรับชาย (สจ๊วต) สายการบินลุฟท์ฮันซ่า ซึ่งในขณะนั้นผู้ต้องหากับพวกได้ร่วมกันก่อเหตุลักทรัพย์ เป็นรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ และยังได้ร่วมกันปลอมตั๋วเงิน โดยการเขียนปลอมลายมือชื่อนายชัยรัตน์ นำไปเรียกเก็บเงินต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร นอกจากนี้ยังร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จกับพนักงานสอบสวน สน.บางรัก รวมทั้งร่วมกันปลอมลายมือชื่อในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของนายชัยรัตน์ อีกด้วย สุดท้ายได้ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 15 ปี 6 เดือน
และหลังจากพ้นโทษออกมาในปี พ.ศ. 2565 ได้ตระเวนออกทำความผิดอีกในลักษณะเดิม ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งระหว่างที่ผู้ต้องหาได้หลบหนีการประกันตัวในคดีของศาลจังหวัดหนองคาย และก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ยังได้ไปก่อเหตุฉ้อโกงร้านรับแลกเงิน ย่านถนนสุรวงศ์ เขตพื้นที่ สน.บางรัก โดยใช้อุบายหลอกลวงอาศัยช่องว่างของการเคลียริ่งของธนาคารในลักษณะเดิม ได้เงินสดไปอีก 22,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ประมาณ 800,000 บาท) สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา