คัดลอก URL แล้ว
หวั่นขาดสภาพคล่อง หลังผู้กู้กยศ. ผิดนัดชำระ 2.5 ล้าน มูลหนี้กว่า 9 หมื่นล้าน!

หวั่นขาดสภาพคล่อง หลังผู้กู้กยศ. ผิดนัดชำระ 2.5 ล้าน มูลหนี้กว่า 9 หมื่นล้าน!

หลังสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีมติเห็นชอบให้ “เงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา” (กยศ.) ปลอดดอกเบี้ย (ดอกเบี้ย 0%) และไม่คิดค่าปรับกรณีผิดนัดชำระ โดยจะให้มีผลย้อนหลังผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันทุกราย กรณีนี้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากถูกมองว่าจะยิ่งทำให้กองทุนขาดรายได้หมุนเวียน จากการผิดนัดชำระหนี้ที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อนักเรียนนักศึกษาผู้กู้รายใหม่

เปิดสถานะกองทุน กยศ. ให้กู้แล้ว 6.28 ล้านคน เป็นเงินกว่า 6.9 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน กยศ. มีผู้กู้ยืมเงินทั้งสิ้น 6.28 ล้านคน รวมเป็นเงินมากถึง 6.9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็น

– ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1.66 ล้านคน คิดเป็นเงิน 1.29 แสนล้านบาท

– อยู่ระหว่างการผ่อนชำระ 3.5 ล้านคน คิดเป็นเงิน 4.52 แสนล้านบาท

– อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 9.86 แสนคน คิดเป็นเงิน 1.14 แสนล้านบาท

กลุ่มคนผิดนัดชำระหนี้ ราว 2.5 ล้านคน คิดเป็นเงินมากถึง 9 หมื่นล้านบาท

ห่วงผลกระทบปล่อยกู้นักเรียนรายใหม่ หากกองทุนขาดสภาพคล่อง

‘นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์’ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ กองทุนจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบเรื่องการปล่อยกู้ ให้กับนักเรียนในระยะต่อไป เนื่องจากในแต่ละปีกองทุนจะมีสภาพคล่อง ที่ได้รับจากการชำระหนี้เงินกู้ ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ประมาณ 6 พันล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุน ประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี เมื่อไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รายรับส่วนนี้ก็จะหายไป ดังนั้น หลังจากนี้ กยศ.ต้องเตรียมข้อมูล เพิ่มเติมเพื่อไปชี้แจงต่อ วุฒิสภา ประเด็นสำคัญ คือ เหตุจำเป็นที่จะต้องมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ และข้อเท็จจริงของผลกระทบต่างๆ

‘คลัง’ ย้ำเงื่อนไขผู้กู้ต้องคืนเงินต้น ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระกองทุน

ขณะที่ ‘นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คงต้องมีการวางแผนบริหารเงิน กยศ. ใหม่ เพราะเงินดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ซึ่งเป็นรายได้ของกองทุนจะหายไปหมด ถ้ามีความต้องการมากขึ้น แต่รายได้ไม่เข้ามาเพิ่ม ก็จะต้องใช้เงินก้อนเดิมที่เป็นเงินต้นมาใช้หมุนเวียน ดังนั้น เงื่อนไขที่สำคัญคือผู้กู้ต้องคืนเงินต้น ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระกองทุน

ด้าน ‘นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ’ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เผยว่า “มีความเป็นห่วงว่าผู้กู้จะไม่มีวินัยในการชำระหนี้” โดยไม่ได้มีความเป็นห่วงในเรื่องดอกเบี้ย แต่มีความเป็นห่วงประเด็นเบี้ยปรับ ซึ่งเป็นเรื่องของวินัย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มองว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องบริหารจัดการโดยไม่ให้มีข้อขัดแย้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง