คัดลอก URL แล้ว
ทำความเข้าใจ ‘กฎหมายคุ้มครองพยานในคดีอาญา’ ฉบับที่ 2  พ.ศ. 2565

ทำความเข้าใจ ‘กฎหมายคุ้มครองพยานในคดีอาญา’ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565

KEY :

‘พยานบุคคล’ ในคดีอาญา ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่สามารถให้ข้อเท็จอันเป็นประโยชน์ต่อศาล เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาคดีต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งพยานโจยก์ และ พยานจำเลย โดยคำให้การของพยานนั้นจะมีน้ำหนักมากเพียงพอหรือไม่ ก็ต้องไปว่ากันด้วยส่วนประกอบอื่น ๆ ทั้ง พยานวัตถุ พยานเอกสาร รวมถึงพยานหลักฐานอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องทางคดี ว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่อย่างไร จนนำไปสู่การพิจารณาคดีของศาลเพื่อวินิจฉัยที่ถูกต้อง และสามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้

กฎหมายคุ้มครองพยานบุคคลเป็นอีกส่วนสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ต่อมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีความต้องการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยาน (ฉบับที่..) พ.ศ. หลังจากกระทรวงยุติธรรมบังคับใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งพบว่าบทบัญญัติบางมาตรายังไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน สภาพเศรษฐกิจ และภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับพยานที่มาทำหน้าที่เป็นพยานในการพิจารณาคดีอาญา

รวมทั้งยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน กระทรวงยุติธรรมจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา(ฉบับที่..) พ.ศ. ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้พยานได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ การจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยานที่มาทำหน้าที่เป็นพยานในคดีอาญาให้สอดคล้องกับสภาเศรษฐกิจ และไม่เป็นภาระแก่พยาน

โดยเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 โดยให้มีผล เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา (ประกาศ ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2565) เป็นต้นไปนั้น

ภายหลังที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. วาระ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 และ ที่ประชุมวุฒิสภา เห็นชอบแก่ร่างกฎหมายคุ้มครองพยาน ไปเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565

เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะส่งผลให้พยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของพยาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน ซึ่งอยู่ในมาตรการคุ้มครองพยานตามกฎหมายมีความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือได้รับสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด รวมทั้งเพื่อให้การคุ้มครองพยานดำเนินการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองพยาน ให้ได้รับความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ การจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยานที่มาทำหน้าที่เป็นพยานในคดีอาญา สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อไม่เป็นภาระแก่พยาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีและกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและกล้าที่จะเป็นพยานในคดีต่าง ๆ มากขึ้น

กำหนดให้มีการคุ้มครองบุคคลที่จะมาเป็นพยานในคดีอาญาให้มีความหมายกว้างขึ้นและให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้มีการประเมินพฤติการณ์ความไม่ปลอดภัย ก่อนการอนุมัติขยายระยะเวลาการคุ้มครองและการสิ้นสุดการคุ้มครองพยาน

โดยเพิ่มเติมคดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือคดีพรากเด็กและผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายอาญาให้สามารถใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานได้ การจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่พยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่คุ้มครองจริง กำหนดหลักเกณฑ์และการจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยานที่เดินทางมาเป็นพยาน เป็นต้น

แก้ไขเพิ่มเติม 7 มาตรา 11 ประเด็น

เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานมีการแก้ไขเพิ่มเติม 7 มาตรา 11 ประเด็น ได้แก่ มาตรา 3 มาตรา 6 มาตรา 8 มาตรา 10 มาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 17

ตัวอย่างเช่น

มาตรา 3

ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “พยาน” ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติ คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“พยาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งจะมาให้หรือได้ให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา หรือศาลในการดำเนินคดีอาญา รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ แต่มิให้หมายความรวมถึงจำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษและหลบหนี”

มาตรา 4

ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” ระหว่างบทนิยามคำว่า “ความปลอดภัย” และ “รัฐมนตรี” ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5

ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“การแจ้ง การออกคำสั่ง และวิธีการที่เจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นจะให้ความคุ้มครองแก่พยานตามคำร้อง การประเมินพฤติการณ์ความไม่ปลอดภัย และการขยาย และการสิ้นสุด ซึ่งการคุ้มครองตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี”

มาตรา 7

ให้ยกเลิกความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 10 ให้สำนักงานคุ้มครองพยานดำเนินการเพื่อคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง (3) เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับแจ้งจากสำนักงานคุ้มครองพยาน ให้หน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่หน่วยงานนั้นกำหนด

ในกรณีที่ได้มีการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามที่สำนักงานคุ้มครองพยานแจ้งมา โดยให้ถือว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ และห้ามมิให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

“การดำเนินการตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดและให้คำนึงถึงการดำรงชีวิตตามปกติของพยานด้วย”

อนึ่ง กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้พยายามปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญาพ.ศ.2546 มาตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากที่ผ่านมา การบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 พบว่ามีบทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน สภาพเศรษฐกิจ ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับพยาน

รวมทั้งยังไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิด บทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเข้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง