คัดลอก URL แล้ว
อวดโฉม! รถไฟญี่ปุ่นดีเซลราง “KIHA 183“ เวอร์ชั่นปรับปรุงใหม่

อวดโฉม! รถไฟญี่ปุ่นดีเซลราง “KIHA 183“ เวอร์ชั่นปรับปรุงใหม่

KEY :

วันนี้ (6 กันยายน 65) ที่ โรงงานมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ การรถไฟแห่งประเทศไทยนำสื่อมวลชนตรวจเยี่ยมโรงซ่อมบำรุงมักกะสัน และเยี่ยมชมความก้าวหน้าการปรับปรุง และกระบวนการซ่อมบำรุง ขบวนรถไฟดีเซลราง KIHA 183 พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในขบวนรถ ที่ศูนย์ซ่อมรถดีเซลรางและรถปรับอากาศ โรงงานมักกะสัน ซึ่งขบวนรถไฟดังกล่าวเป็นรถที่ รฟท. ได้รับมอบมาจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค.64 จำนวน 17 คัน

ทั้งนี้การรถไฟรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของการขนย้ายแผ่นละ 2.5 ล้านบาทและได้ดำเนินการจัดส่งมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 โดยวันนี้ผู้ว่าการรถไฟฯ ได้นำสื่อมวลชนร่วมเดินทางเพื่อทดสอบขบวนรถ KIHA 183 ที่ปรับปรุงนี้จากโรงซ่อมมักกะสันไปยังเส้นทาง กรุงเทพฯ (โรงงานมักกะสัน)-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯ (สถานีหัวลำโพง)

สำหรับแผนการทดสอบเดินรถไฟดีเซลราง KIHA 183 นั้น จะมีการทดสอบ 3 คันในช่วงต้นเดือน ก.ย.65 เส้นทาง กรุงเทพฯ-ลพบุรี จากนั้นจะทดสอบพร้อมกันทั้ง 4 คันแบบเต็มรูปแบบกลางเดือน ก.ย.65 หากการทดสอบทั้ง 4 คันไม่มีปัญหาใด คาดว่าจะสามารถนำรถไฟดีเซลราง Kiha 183 ทั้ง 4 คัน เปิดเดินรถให้บริการประชาชนได้ประมาณปลายเดือน ก.ย.65

โดยจะให้บริการเป็นขบวนรถท่องเที่ยว ระยะทางไป-กลับไม่เกิน 300 กิโลเมตร (กม.) อาทิ อยุธยา น้ำตก พัทยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และฉะเชิงเทรา จะใช้ความเร็วในการเดินรถประมาณ 95 กม.ต่อ ชม.

อย่างไรก็ตามรถไฟดีเซลราง Kiha 183 ที่ได้รับมาทั้ง 17 คัน ขณะนี้กำลังดำเนินการปรับปรุง 4 คัน โดยในต้นปี 66 จะเริ่มดำเนินการปรับปรุงอีก 4 คัน ส่วนที่เหลืออีก 9 คัน จะปรับปรุงในระยะถัดไป ทั้งนี้รถไฟ Kiha 183 แบ่งเป็น 4 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ อีก 1 ตู้เป็นรถสำรอง ใน 1 ขบวนมี 216 ที่นั่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งเครื่องปรับอากาศ เบาะที่นั่งปรับเอนได้ ห้องน้ำระบบปิด เป็นขบวนรถที่ไม่ต้องใช้หัวรถจักร มีเครื่องยนต์ในตัว ทำความเร็วได้สูงสุด 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ในการปรับปรุงและการทำสีภายนอกตัวรถไฟ KIHA 183 นั้น รฟท. ยังคงเน้นสีขาว-ม่วง-เขียวอ่อน และน้ำตาล โดยเป็นสีดั้งเดิม เพื่อคงความเป็นญี่ปุ่น ให้ผู้ที่ชื่นชอบรถไฟญี่ปุ่น ได้สัมผัสกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ขณะที่ตัวอักษรต่างๆ บนป้ายต่างๆ ที่ชำรุด ได้ลอกแบบจากของเดิม และทำใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังคงใช้ภาษาญี่ปุ่นเดิม กับภาษาอังกฤษเป็นหลัก มีภาษาไทยแทรกบ้างในบางจุดที่สำคัญ อาทิ ภายในห้องน้ำ และจุดฉุกเฉินต่าง ๆ เป็นต้น


ภาพ – วิชาญ โพธิ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง