สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ร่วมกับ โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ และ เทศบาลตำบลแม่สาย จังหวัดเชียงราย และภาคีเครือข่ายโครงการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัลเพื่อสร้างเมืองของทุกคนในพื้นที่ภาคเหนือ จัดกิจกรรม “ศิลป์ สื่อ เด็ก ขยับเมือง” สะท้อนแนวคิดการสร้างเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ผ่านนิทรรศการศิลปะของเยาวชนพลเมืองแม่สายและเครือข่ายเที่ยวบ้านเพื่อน ต่อยอดพลังเยาวชนสื่อสร้างสรรค์ เกิดเป็นกลไกในการผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม
คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า “โครงการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัลเพื่อการสร้างเมืองของทุกคน หรือ MIDL for Inclusive Cities คือแนวคิดในการนําเอาสื่อสารสนเทศและดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้เยาวชนตระหนัก เรียนรู้ เท่าทันสื่อ และนําไปสู่การใช้สื่อเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบเมืองที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาคและมีความสุข
ในส่วนของภาคีเครือข่าย MIDL for Inclusive Cities ภาคเหนือในพื้นที่อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการเมืองฮ่วมใจ ที่ผ่านมาเยาวชนในพื้นที่ได้นำเสนอการสะท้อนคิดมุมมองเรื่องเมืองและความเป็นพหุวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมการเดินเมือง จนมาถึงครั้งนี้ นอกจากการเปิดโอกาสให้เยาวชนจากพื้นที่อื่นได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว ยังมีการรวมพลังต่อยอดมุมมองความคิดในการสร้างเมือง ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์สื่อศิลปะในหลากหลายรูปแบบ โดยมีศิลปินและครูศิลปะมาเป็นวิทยากร เพื่อเป็นการนำเสนอต่อชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการเมือง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหน่วยงานส่วนท้องถิ่นได้แก่เทศบาลตำบลแม่สาย และปลัดอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย นับเป็นการยกระดับงานจากการสร้างความเข้มแข็งของเด็กเยาวชน นำไปสู่การสร้างนิเวศแวดล้อมในการสร้างเมือง และขยายผลสู่กลไกผลักดันนโยบายสาธารณะให้สามารถเกิดเป็นรูปธรรมได้ต่อไป”
ด้าน นายอาทิตย์ สุขเจริญ แกนนำสภาเยาวชนตำบลแม่สาย จ.เชียงราย ได้กล่าวถึงการนำเสนอผลงานของเยาวชนในครั้งนี้ว่า “กิจกรรมในครั้งนี้จะมีการพาเยาวชนทั้งในและนอกพื้นที่จากทั้งกรุงเทพฯ ภาคอีสาน ภาคใต้ รวมถึงผู้ที่สนใจ ออกเดินเมืองเพื่อสังเกตความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากนั้นจะมีการนำมุมมองแนวคิดที่ได้มาพัฒนาเป็นงานศิลปะที่หลากหลายตามความถนัดและความสนใจตนเอง เช่น การแต่งเพลง การแสดง ฯลฯ และนำไปเสนอเป็นงานนิทรรศการให้กับชุมชนและผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในฐานะตัวแทนเยาวชนแม่สาย ก็อยากจะขอความขอบคุณ สสย. และ สสส. ที่จัดโครงการนี้ขึ้นมา ทำให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจเมืองที่เราเกิดได้ดีมากยิ่งขึ้น และอยากจะขอให้ผู้ใหญ่ในชุมชนได้เปิดใจรับฟังเสียงของพวกเราที่เป็นคนรุ่นใหม่ ความคิดเห็นของพวกเราอาจจะมีบางมุมที่แตกต่างจากผู้ใหญ่รุ่นเดิมอยู่บ้าง แต่ก็ขอโอกาส ขอให้ได้นำแนวคิดของพวกเราไปทดลองใช้ ให้เสียงของพวกเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเมืองที่เป็นของเราจริงๆ”
ในส่วนของ นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวว่า“กิจกรรมของกลุ่มเยาวชนแม่สายมีแนวคิดและหลักการที่ดี แต่ยังอาจขาดการสื่อสารไปยังชุมชนในวงกว้าง ในส่วนของเทศบาลตำบลแม่สายเราก็เข้ามาช่วยเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงน้องเยาวชนเข้ากับชาวบ้านในชุมชน ช่วยกระจายข่าวบอกต่อในสิ่งน้อง ๆ ตั้งใจทำกันขึ้นมา เพื่อให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยวนะ มีเราคอยสนับสนุนอีกทางหนึ่ง และผมก็ดึงน้องๆ กลุ่มนี้เข้ามาทำงานที่เทศบาลด้วย เพื่อให้คนในชุมชนได้เปลี่ยนความคิดใหม่ว่าเด็กๆ คือส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองของเราเช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านก็จะมองว่าเวลาเด็กทำงานอะไร นั่นคืองานของโรงเรียน เป็นสิ่งที่ทำเพื่อการเรียนการสอนก็จะถูกมองแบบนั้น ผมจึงอยากมีส่วนช่วยในการเชื่อมคนสองกลุ่มเข้าหากัน และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมตั้งใจจะทำก็คือการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับกลุ่มคนชาติพันธุ์ครับ เพราะจากที่ได้เข้าร่วมงานและได้ฟังน้องๆ แสดงออกทางความคิด ประเด็นหนึ่งที่น้องๆ สื่อสารออกมาคือความเหลื่อมล้ำทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน ซึ่งก็คงจะต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจในหลาย ๆ ประเด็นทั้งกลุ่มเยาวชน ผู้ปกครองและชุมชนต่อไป”