วันนี้ 15 สิงหาคม 2565 เวลา 09.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานสถานการณ์พายุโซนร้อน “มู่หลาน” ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณเมืองลางซอน สาธารณรัฐสังคมนิคมเวียดนาม และอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยตั้งแต่วันที่ 11 – 15 สิงหาคม 2565 ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่รวม 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ พิษณุโลก นครพนม เลย และปราจีนบุรี 35 อำเภอ 117 ตำบล 623 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,965 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (เชียงราย) ปัจจุบันยังคงมีอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน และปราจีนบุรี รวม 20 อำเภอ 83 ตำบล 465 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,088 ครัวเรือน ภาพรวมระดับน้ำลดลง ดังนี้
- เชียงราย ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย อำเภอเมืองเชียงราย และอำเภอเชียงแสน รวม 8 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,672 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- น่าน ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าวังผา อำเภอภูเพียง และอำเภอเวียงสา รวม 13 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,116 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง แต่ยังคงเฝ้าระวังในเขตพื้นที่อำเภอเมืองน่าน
- ปราจีนบุรี เกิดน้ำไหลหากเข้าท่วมพื้นที่ตำบลวังตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี ส่งผลให้น้ำกัดเซาะถนนในหมู่บ้านขาดไม่สามารถใช้เส้นทางสัญจรได้ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการซ่อมแซมสายทางจนสามารถใช้สัญจรได้ตามปกติแล้ว
นอกจากนี้ จากสถานการณ์ฝนตกหนักในภาคเหนือ ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณระหว่าง 1,400 – 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีความจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นในอัตรา 1,000 – 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20 – 0.60 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน 1 จังหวัด ได้แก่
- พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาในพื้นที่อำเภอเสนา (ตำบลหัวเวียง บ้านกระทุ่ม บ้านโพธิ์ บ้านแพน รางจระเข้ เสนา) อำเภอผักไห่ (ตำบลบ้านใหญ่ ลาดชิด กุฎี ท่าดินแดง ผักไห่) อำเภอบางบาล (ตำบลวัดตะกู บ้านคลัง ทางช้าง น้ำเต้า) ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,276 ครัวเรือน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งพื้นที่ที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว จะได้เร่งสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”