KEY :
- ‘เงินบาทดิจิทัล’ เป็นอีกหนึ่งการพัฒนาทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามามีบทบาททางการเงินในอนาคต
- ทั้งการชำระ จ่ายค่าบริการ ด้วยสกุลเงินดิจิทัล เพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งคนแก่ประชาชน
- ปัจจุบัน Retail CBDC ยังอยู่ในช่วงของการทดสอบระบบจากความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน
‘เงินบาทดิจิทัล’ หลาย ๆ คนเคยอาจได้ยินผ่านหู หรือ เห็นคำ ๆ นี้ ผ่านตามาบ้างแล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งในการพัฒนาระบบทางการเงินในอนาคตอันใกล้นี้ของประเทศไทย ที่จะเข้ามามีบทบาททางการเงินโดยประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และที่สำคัญเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกกฎหมาย และออกโดย ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’
แน่นอนว่า ‘เงินบาทดิจิทัล’ จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญในยุคดิจิทัลเช่นนี้ ทั้งการชำระ จ่ายค่าบริการ ด้วยสกุลเงินดิจิทัล เพิ่มความสะดวกสบายมากยิ่งคนแก่ประชาชน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนั้น ทุกอย่างย่อมพัฒนาไปตามยุคสมัย เฉกเช่นเดียวกับในยุคปัจจุบันนี้ที่สังคมส่วนใหญ่เริ่มพกเงินสดกันน้อยลง และจ่ายเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชั่นทางการเงิน เพียงแค่ปลายนิ้วบนสมาร์ทโฟน
ซึ่งจะแตกต่างจากโลกของคริปโต เป็นทราบกันดีว่าเหรีญต่าง ๆ ที่มีการผลิตออกมานั้น ส่วนใหญ่ล้วนมาจากบริษัทเอกชนโดยทั้งสิ้น ความเสี่ยงย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ เราจะเห็นได้จากข่าวในแวดวงคริปโตอยู่เป็นระยะ ทั้งการล่มสลายของเหรียญโปรเจคยักษ์ของ Terra ที่กระทบเป็นวงกว้าง ทั้งการผันผวนของราคาตลาดที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้
สำหรับเงินบาทดิจิทัล ที่กำลังอยู่ในช่วงทดสอบและพัฒนาระบบ โดยแบงก์ชาติ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น จะออกมาในรูปแบบคล้าย Stablecoin โดยอิงกับค่าเงินบาท โดยรูปแบบการใช้งานนั้นสามารถใช้ได้ทั้งแบบ ‘ออนไลน์’ และ ‘ออฟไลน์’
CBDC สกุลเงินดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารกลาง
CBDC หรือชื่อเต็ม ๆ คือ Central Bank Digital Currency เป็น “สกุลเงิน” ในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เหมือนเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดยธนาคารกลางเพียงแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล มีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ สามารถรักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้
CBDC สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ CBDC สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) และสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDC)
ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือเป็นธนาคารกลางอันดับแรก ๆ ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของCBDC ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจและประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกสบายและมีความหลากหลายมากขึ้น พร้อมกับต้นทุนที่ลดลง
การทดสอบ Wholesale CBDC – Retail CBDC
ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เริ่มศึกษาและพัฒนา CBDC ระดับ Wholesale มาตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ “อินทนนท์” ซึ่งได้ทดสอบแล้วเสร็จ และปัจจุบันเห็นความจำเป็นที่จะขยายขอบเขตการศึกษาและพัฒนาไปสู่ระดับประชาชนหรือ Retail CBDC โดยจะเริ่มให้มีการทดลองใช้งานจริงในวงจำกัด (Pilot project) ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินถึงประโยชน์ความเสี่ยงความเหมาะสมของเทคโนโลยีและการออกแบบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายและปรับปรุงการออกแบบ Retail CBDC ในอนาคต
นอกจากการทดสอบใช้งานพื้นฐานเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ Retail CBDCรวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย ซึ่งจะทดสอบการนำมาใช้ชำระค่าสินค้าบริการในพื้นที่เฉพาะและในกลุ่มผู้ใช้งานที่จำกัด (Foundation track) แล้ว
พร้อมมีแผนจะทดสอบความสามารถด้านนวัตกรรม (Innovation track) เพื่อทดสอบความสามารถในการเขียนโปรแกรม (Programmability) ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดบน Retail CBDC ทำให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ขั้นตอนการทําธุรกรรมโดยใช้ Retail CBDC แบบออนไลน์ (ช่วงทดสอบ)
การได้มาซึ่ง Retail CBDC โดยตัวกลางสามารถโอนเงินจากบัญชีเงินฝาก (Current account) ของสถาบันตนที่เปิดไว้กับ ธปท. มาเข้าบัญชีที่ ธปท. กำหนดไว้ ซึ่งภายหลังจากที่ ธปท. ได้รับเงินดังกล่าวแล้ว ธปท. จะสร้าง Retail CBDC ขึ้นมาเท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับ และโอน Retail CBDC ดังกล่าวไปสู่ Wallet ของตัวกลางนั้น เพื่อนำไปทำธุรกรรมหรือกระจายให้ผู้ใช้งานต่อไป
กรณีตัวกลางที่ทำหน้าที่เฉพาะเป็น Custodian จะต้องอาศัยตัวกลางที่ทำหน้าที่เป็น Distributor ในการทำหน้าที่โอนเงินให้แก่ ธปท. แทน (คล้ายเป็น Sponsoring bank) ซึ่งภายหลังจากที่ ธปท. ได้รับเงินจากตัวกลางแล้ว ธปท. จะสร้าง Retail CBDC ขึ้นมาเท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับ จากนั้นจึงโอน Retail CBDC ดังกล่าวไปสู่ Wallet ของตัวกลางที่ทำหน้าที่เฉพาะ Custodian ดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเฉพาะที่เป็น Custodian อาจจัดให้มีบริการกรณีผู้ใช้งานต้องการแลก Retail CBDC โดยการส่งมอบเงินสดหรือโอนเงินในบัญชีเงินฝากของผู้ใช้งานให้กับตัวกลางนั้น และตัวกลางดังกล่าวจะโอน Retail CBDC ให้กับผู้ใช้งานในจำนวนที่เท่ากับเงินที่ได้รับโดยไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด
การทำธุรกรรมโอนหรือชำระเงินด้วย Retail CBDC (ช่วงทดสอบ)
ผู้ใช้งานที่เข้าร่วมทดสอบใน Pilot Project สามารถใช้ Retail CBDC เพื่อโอนหรือชำระค่าสินค้าหรือบริการได้ โดยอาศัย Mobile application ของตัวกลางที่ตนใช้บริการเพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น โอน Retail CBDC จาก Wallet ของตน ไปยัง Wallet ของผู้ใช้งานอีกคนหนึ่ง ไม่ว่า Wallet จะอยู่กับตัวกลางรายใดก็ตาม
โดยสามารถทำรายการได้ด้วยวิธีที่หลากหลาย ได้แก่ การระบุ Wallet address ของผู้รับเงิน การใช้ Mobile application หรือสแกน QR Code ของร้านค้าที่รับเงิน เป็นต้น เมื่อมีการทำธุรกรรม Retail CBDC ธปท. จะทำหน้าที่ตรวจสอบยืนยันรายการโอน Retail CBDC จาก Wallet หนึ่งไปสู่อีก Wallet หนึ่ง ว่า Retail CBDC ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดย ธปท. จริงหรือไม่ (Verify) และผู้ใช้งานมีการใช้ Retail CBDC ในการทำธุรกรรมรายการอื่นไปแล้วหรือไม่ (Double-spending) เมื่อ ธปท. ได้ตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ระบบจะถือว่าธุรกรรมการโอนนั้นเสร็จสมบูรณ์
สำหรับการแลกเปลี่ยน Retail CBDC ไปเป็นเงิน ในช่วงของ Pilot Project นี้ธปท. กำหนดให้ผู้ใช้งาน และผู้ให้บริการที่มีRetail CBDC ใน Wallet สามารถแลกเปลี่ยน Retail CBDC ไปเข้าบัญชีเงินฝากของธนาคารที่เชื่อมไว้กับบริการของตัวกลางที่ผู้ใช้งานเปิด Wallet อยู่
การทําธุรกรรมโดยใช้ Retail CBDC แบบออฟไลน์ (ช่วงทดสอบ)
การทำ Offline transaction มีหลายรูปแบบ ซึ่งในการทดสอบ Pilot project นี้ธปท. เลือกทดสอบรูปแบบการใช้บัตร (Physical card) ที่มีระบบ Wallet อยู่ภายในตัวบัตร เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน สามารถทำธุรกรรมโดยไม่ต้องใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตได้โดย ธปท. จะทดสอบ Offline transaction เฉพาะภายในพื้นที่ของ ธปท. และมีพนักงานของ ธปท. เป็นผู้ใช้งานที่ร่วมทดสอบเท่านั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1.การได้มาซึ่ง Retail CBDC : ผู้ใช้งานจะใช้บัตรเชื่อมต่อกับ Mobile application ของตัวกลางที่ตนใช้บริการ (เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีNFC) เพื่อโอน Retail CBDC จาก Wallet ของตนที่อยู่กับตัวกลาง
เข้าไปเก็บใน Wallet ที่อยู่ในบัตรดังกล่าว
2.การทำธุรกรรมโดยใช้ Retail CBDC : ผู้ใช้งานสามารถใช้บัตรทำธุรกรรมโอน Retail CBDC จาก Wallet ในบัตรไปยัง Wallet อื่น ๆ ทั้งกับ Online wallet ที่อยู่กับตัวกลาง (ไม่จำเป็นต้องเป็น Wallet เดิมที่เคยเชื่อมต่อเพื่อเติมเงินเข้าบัตร) ตลอดจนทำธุรกรรมกับบัตรใบอื่นในรูปแบบ Offline-to-offline ระหว่างกันได้ โดยใช้บัตรของตน เชื่อมต่อกับบัตรของผู้ใช้อีกคนหนึ่งที่เป็นผู้รับโอน ผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อที่รองรับเทคโนโลยี NFC และ/หรือ การเชื่อมต่อตรงผ่านชิปบนบัตร (โดยที่อุปกรณ์ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต)
โดยเมื่อบัตรของผู้โอนและผู้รับโอนเชื่อมต่อกัน Retail CBDC ในบัตรของผู้โอน ก็จะถูกโอนไปยังบัตรของผู้รับโอน และผู้รับโอนก็สามารถนำ Retail CBDC ที่ได้รับนั้น ไปทำธุรกรรมแบบ Offline ได้ทันทีอย่างต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
ระบบความปลอดภัยของ Retail CBDC
ระบบ Retail CBDC ที่ใช้งานในช่วง Pilot project มีลักษณะเป็น Token-based ซึ่งถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัส (Cryptography) ที่ออกแบบมาเป็นการเฉพาะ มีคุณสมบัติในการ บริหารจัดการที่สอดคล้องกับสิ่งที่ Retail CBDC พึงมีเช่น ไม่สามารถปลอมแปลงได้ ไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ (Double-spending) และธุรกรรมมีความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ โดยลักษณะการทำงานมีรายละเอียด ดังนี้
- มีลักษณะเป็น Token-based ที่มีมูลค่า (Value) ผูกติดอยู่บนแต่ละหน่วยย่อยของตัว Token เองโดยไม่ได้ผูกกับบัญชีของผู้ใช้งานโดยตรง
- แต่ละหน่วยย่อยของ Token มีสิ่งที่เทียบเคียงได้กับ “หมายเลขอ้างอิงของธนบัตร” (Banknote serialnumber) ผูกติดอยู่ในทุก ๆ Token ซึ่งเป็นการยืนยัน (Validity) ว่า Retail CBDC สามารถใช้งานได้จริงไม่ได้ถูกปลอมแปลง
- การเพิ่มหรือลดปริมาณ Retail CBDC ที่หมุนเวียนภายในระบบสามารถทำได้ด้วยกลไกเฉพาะ แยกต่างหากจากการประมวลผลธุรกรรมทั่วไป ซึ่งกระทําได้โดย ธปท. เท่านั้น (เสมือนกับการผลิตและทำลายธนบัตรหมุนเวียน)
- การทำธุรกรรมโอน Retail CBDC ในระบบ มีลักษณะเป็นการส่งต่อ “Validity” จาก Retail CBDC token ที่อยู่ต้นทางไปยัง Retail CBDC token ที่อยู่ปลายทาง โดยกลไกนี้มีลักษณะคล้ายกับการส่งธนบัตรจากต้นทางไปสู่ปลายทาง
- การยืนยันตรวจสอบ Validity ของ Token สามารถทำได้โดยใช้หมายเลขอ้างอิงของ Token นั้น ๆ (ซึ่งได้รับการประทับรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์จาก ธปท. ซึ่งเป็น Verifier) ได้ทันทีในขั้นตอนเดียว โดยไม่จำเป็นต้องสืบค้นย้อนหลังไปถึงจุดกำเนิดของธุรกรรมตั้งต้นที่ ธปท. เริ่มสร้าง Retail CBDC เข้ามาหมุนเวียนในระบบ ซึ่งคุณลักษณะนี้เป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากการยืนยันตรวจสอบความถูกต้องของ
Token ในรูปแบบที่ใช้เทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT)
การศึกษาและพัฒนาในระยะถัดไป
แนวทางการออกแบบ Retail CBDC ของ ธปท. และรูปแบบของเทคโนโลยีข้างต้นที่นำมาใช้ระยะ Pilot นั้น ยังไม่ได้เป็นสิ่งที่ ธปท. ตัดสินใจในการนำมาพัฒนา Retail CBDC เพื่อใช้งานจริงในระยะต่อไป ธปท. จะมีการประเมินผลของการออกแบบและเทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้น ที่ได้รับหลังจากโครงการ Pilot project ทั้งส่วนของ Foundation track และ Innovation track เพื่อนำมาปรับปรุง และขยายผลการพัฒนา Retail CBDC ของ ธปท.
ในอนาคต โดย ธปท. ยังคงเปิดกว้างเรื่องของการเลือกใช้เทคโนโลยี รวมถึงช่องทางอื่น ๆ ที่ได้รับจากการพัฒนาของภาคเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับระบบการเงินของประเทศ ท่ามกลางพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
…
อย่างไรก็ดีธนาคารยังไม่มีแผนจะออกใช้ Retail CBD เนื่องจากการออก Retail CBDC ต้องพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน เพราะอาจส่งผลต่อระบบการเงินของประเทศได้โดยการทดสอบ Retail CBDC นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC เพื่อประเมินความเหมาะสมของเทคโนโลยีและการออกแบบ
รวมถึงการนําไปต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินอื่น ๆ ในอนาคต ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจ และประเทศในภาพรวม
ข้อมูล :
- ธนาคารแห่งประเทศไทย