คัดลอก URL แล้ว
‘ชุดลูกเสือ’ อีกหนึ่งภาระค่าครองชีพผู้ปกครอง ในยุคของแพง

‘ชุดลูกเสือ’ อีกหนึ่งภาระค่าครองชีพผู้ปกครอง ในยุคของแพง

KEY :

แม้สถานการณ์โควิด-19 ในบ้านเรา จะมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตน้อยลง ประกอบกับมาตรการคลายล็อกต่าง ๆ ทั้งการอนุญาตให้ถอดหน้ากากอนามัยตามความสมัครใจ รวมถึงกิจการต่าง ๆ และการประกอบกิจกรรมในที่โล่ง เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ยังคงไว้ซึ่งมาตรการป้องกันโควิด-19

โดยมาตรการคลายล็อกต่าง ๆ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขแล้ว ยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระดับรากหญ้าไปจนถึงธุรกิจระดับใหญ่และระดับประเทศ

แต่ด้วยสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก ที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ประกอบกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบถึงทรัพยากรทางด้านพลังงาน และทรัพยกรต่าง ๆ ทำให้ในหลายประเทศเกิดภาวะเงินเฟ้อ

ซึ่งสถานการณ์เงินเฟ้อในบ้านเรา ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมัน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของต้นทุนในการผลิต และขนส่ง ส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าต่างปรับทยอยขึ้นราคา ซึ่งท้ายที่สุดประชาชนซึ่งผู้เป็นผู้บริโภคต้องแบกรับค่าครองชีพเหล่านี้

นอกจากของอุปโภคและบริโภคพื้นฐานในชีวิตประจำวันแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่กำลังเป็นกระแสอยู่ ณ ตอนนี้ คือเรื่อง ‘ชุดลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด’ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในภาระค่าครองชีพของผู้ปกครอง ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ จนเกิดการตั้งคำถามจากบรรดาผู้ปกครองว่าควรมีการปรับปรุงในเรื่องนี้หรือไม่

ประวัติ ‘ลูกเสือไทย’

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911)โดยทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียน ต่าง ๆ ให้กำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น รวมทั้งพระราชทาน คำขวัญให้ลูกเสือว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์ ”

กิจการลูกเสือในประเทศไทยยังคงได้รับการสืบสานให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับนับจนปัจจุบัน โดยมี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์คณะลูกเสือแห่งชาติ

ลูกเสือ คือ เยาวชนชายและหญิงอายุระหว่าง 8 – 25 ปี ที่รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรวิชาลูกเสือ โดยยึดมั่นในหลักการ (Principle) วิธีการ (Method) และวัตถุประสงค์ (Purpose) ของการลูกเสือ (Scouting) อย่างเคร่งครัดตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 และข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยการปกครอง หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ พ.ศ. 2509 ได้กำหนดประเภทและเหล่าลูกเสือว่า ลูกเสือมี 4 ประเภท คือ สำรอง สามัญ สามัญรุ่นใหญ่ วิสามัญ และอาจจัดให้มีลูกเสือเหล่าสมุทร และลูกเสือเหล่าอากาศได้ สำหรับลูกเสือที่เป็นหญิง อาจใช้ชื่อเรียกว่า เนตรนารี หรือชื่ออื่นซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติให้หมายถึง ลูกเสือที่เป็นหญิงด้วย

มุมมองจากครู ถึงประเด็นค่าชุดเครื่องแบบ ‘ลูกเสือ เนตรนารี’

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก ครูแว่นดำ ได้โพสต์ข้อความกรณีกระแส ยกเลิกเรียนลูกเสือเนตรนารีเพราะชุดแพง?!?! โดยมองว่าวิชาลูกเสือ-เนตรนารี นั้น เสริมสร้างประโยชน์แก่นักเรียนอย่างมาก ทั้งเรื่องระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ การเสียสละ อีกทั้งการฝึกการใช้ชีวิตและการเอาตัวรอดทั้งจากในป่า และในชีวิตประจำวันได้

แต่ประเด็นที่มีการถกเถียงคือ ‘ราคาชุดเครื่องแบบ’ และยิ่งในสถานการณ์ของแพงเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เพิ่มภาระค่าครองชีพของผู้ปกครองมากยิ่งขึ้น กระทบไปถึงครอบครัวที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมาก ซึ่งการยกเลิกวิชาเรียนนั้นอาจไม่ใช้การแก้ปัญหาที่ตรงจุดเสียที่เดียว ซึ่งตัววิชานั้นยังเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน

จึงมองว่าปัญหาหลักคือเรื่องราคาชุดเครื่องแบบที่แพงขึ้น ตามสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ อาจปรับเปลี่ยนมาใช้ผ้าผูกคอกับวอกเกิ้ลมาใส่แทน ซึ่งจะส่งผลดีทั้งเรื่องสภาพคล่องของผู้ปกครอง และนักเรียนได้เรียนในวิชาที่เป็นประโยชน์

ศธ. ออกมาตรการช่วยเหลือลดค่าใช้จ่าย (ชุดลูกเสือ-เนตรนารี)

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.65 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แจ้งเรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ยุกาชาด ด้วยการแต่งเครื่องแบบของลูกเสือที่มีการกำหนดลักษณะ ชนิด และประเภทของเครื่องแบบลูกเสือตามกฎกระทรวง ซึ่งในปัจจุบันการแต่งเครื่องแบบมีความคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงและระเบียบดังกล่าว

ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 การจัดกิจกรรมลูกเสือยุวกาชาดให้สถานศึกษาพิจารณาการปรับรูปแบบลักษณะการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับป้องกันของโควิด-19

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีหนังสือ กำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ให้สื่อสารไปยังโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ ขอให้โรงเรียนอนุโลม กรณีนักเรียนรายใดไม่มีความพร้อม ขอให้ยืดหยุ่นไม่ต้องแต่งกายเต็มรูปแบบ เพียงแค่มีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นลูกเสือ เนตรนารี อาทิ ผูกผ้าพันคอแสดงสัญลักษณ์ เป็นต้น เพราะเป้าหมายการจัดการเรียนการสอน อยู่ที่กิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยฝึกให้เด็กได้เรียนรู้

กรณีนี้ ศธ. ออกคำสั่งเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองตั้งแต่ ปี 2564 โดยไม่ได้บังคับให้นักเรียนต้องสวมใส่ชุดลูกเสือเต็มรูปแบบ เพียงแต่อาจจะมีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน ขณะเดียวกัน เตรียมของบเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และพยายามที่จะมาตรการดูแลครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งนี้สำหรับชุดลูกเสือ อยู่ใน 5 รายการเรียนฟรีอยู่แล้ว หากได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มเติมเข้ามาเชื่อว่าจะช่วยลดภาระผู้ปกครองได้มากขึ้น

งบประมาณค่าเครื่องแบบนักเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ค่าเครื่องแบบนักเรียนประกอบด้วย เสื้อ กางเกง กระโปรง ในราคาดังนี้

ซึ่งผู้ปกครองหรือนักเรียนสามารถถัวจ่ายระหว่างเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนได้ กรณีนักเรียนมีชุดนักเรียนเพียงพอแล้ว สามารถซื้อเข็มขัด รองเท้า ถุงเท้า ชุดลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด/ชุดกีฬา/ชุดฝึกงาน/ชุดประจำท้องถิ่น และประกอบการเรียนที่จำเป็นได้

คำสั่งของ มท. ถึงผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด กรณีชุดลูกเสือ

วันที่ (25 มิ.ย. 65) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะรองประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ที่กระทรวงศึกษาธิการ จัดโดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ได้มีประเด็นการพิจารณาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงสภาพการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่อาจส่งผลต่อการจัดหาชุดเครื่องแบบให้กับบุตรเพื่อใช้ในการเรียนลูกเสือ-เนตรนารี

ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และสถานศึกษา หากพบว่าผู้ปกครองรายใดมีฐานะยากจนขัดสน ไม่สามารถดำเนินการจัดหาชุดลูกเสือและเนตรนารีให้แก่บุตรได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดร่วมกับประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ระดมสรรพกำลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัด ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ จัดหาชุดเครื่องแบบลูกเสือ-เนตรนารีให้กับนักเรียนรายนั้น ๆ

โดยหากเกินความสามารถของจังหวัด ขอให้ได้แจ้งมาที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยทราบ เพื่อระดมสรรพกำลังในส่วนกลางพิจารณาให้การสนับสนุนต่อไป

มุมมองชุดลูกเสือ ของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ

ภายหลังคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดจัดหาชุดลูกเสือให้กับนักเรียน ที่ขาดแคลนเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ปกครอง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ทาง กทม. นั้น พร้อมน้อมรับคำสั่ง แต่ทั้งนี้ทางกระทรวงฯ ความมีงบประมาณสนันสนุนด้วยเช่นกัน

โดยในส่วนของชุดนักเรียน กทม. มีสนับสนุนให้ส่วนหนึ่ง แต่ชุดลูกเสือซึ่งมีราคาสูงอาจเนื่องจากมีอุปกรณ์มาก ดังนั้นต้องมาพิจารณาว่า จริง ๆ แล้วชุดเป็นเพียงส่วนหนึ่ง อาจมีรูปแบบที่ง่ายกว่านี้ สิ่งสำคัญคือการฝึกวินัย หรือแนวความคิดมากกว่า หากองค์ประกอบมีราคาแพงก็เห็นว่าไม่จำเป็น น่าจะไปทำอะไรที่มีประโยชน์มากกว่า

นอกจากนี้ สำนักการศึกษาได้จัดทำประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องการแต่งเครื่องแบบลูกเสือเนตรนารี ยุวกาชาดของนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยให้การจัดกิจกรรมลูกเสือ/ยุวกาชาดในสถานศึกษาสามารถใช้ชุดนักเรียนร่วมกับผ้าผูกคอ และหมวกได้ กรณีการฝึกอบรมเข้าค่ายสามารถแต่งชุดลำลองร่วมกับผ้าผูกคอและหมวกได้ การเเต่งกายชุดลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด กำหนดให้แต่งในพิธีทางลูกเสือหรือยุวกาชาด เช่น พิธีถวายราชสดุดี หรือพิธีปฏิญาณตนสวนสนาม จึงทำให้โรงเรียนสังกัดกทม. ไม่มีประเด็นปัญหาเรื่องการแต่งกายชุดลูกเสือฯ ดังกล่าว

สำรวจราคาชุดเครื่องแบบ

ชุดลูกเสือ (สามัญ)

ราคาเฉลี่ย/คน : 1,000-2,000 บาท

ชุดเนตรนารี (สามัญ)

ราคาเฉลี่ย/คน : 1,000-1,950 บาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง