คัดลอก URL แล้ว
นายกฯ เปิดท่าเรืออัจฉริยะ ท่าช้าง-สาทร เชื่อมการเดินทางแบบไร้รอยต่อ

นายกฯ เปิดท่าเรืออัจฉริยะ ท่าช้าง-สาทร เชื่อมการเดินทางแบบไร้รอยต่อ

KEY :

วันนี้​ (8 มิ.ย.65)​ ที่​ ท่าเรือท่าช้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดท่าเรือท่าช้าง-สาทร “SMART PIER SMART CONNECTION” โดยเยี่ยมชมบริเวณจุดเชื่อมต่อระบบขนส่ง ล้อ ราง เรือ และจุดให้บริการบนท่าเรือสาทร ที่ บริเวณด้านหน้าท่าเรือสาทร เขตบางรัก กรุงเทพฯ จากนั้นออกเดินทางจากท่าเรือสาทรไปยังท่าเรือท่าช้างโดยเรือไฟฟ้า เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือท่าช้าง-สาทร ตามแนวคิด ท่าเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Pier บริเวณท่าเรือท่าช้าง ที่พัฒนาขึ้นใหม่

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้มาเห็นรอยยิ้มของทุกคน เชื่อว่าทุกคนคงเข้าใจ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในทุกรูปแบบทั้งทางบกเรืออากาศและน้ำ เพื่อให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยให้มีการเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ และทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายจากระบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพรวดเร็วและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการแข่งขันยกระดับขีดความสามารถของประเทศในด้านเศรษฐกิจจากโครงข่ายคมนาคมที่เข้มแข็ง ทุกคนเข้าถึงโอกาส ประหยัดการใช้พลังงาน และประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการแออัดบนท้องถนน แต่อาจจะมีบางคนไม่ค่อยเข้าใจอยู่

วันนี้เราทำเรื่องนี้เราได้อะไรมาบ้าง ได้นั่งเรือโก้ เรือไฟฟ้า สะดวกสบาย แค่นั้นหรือ ไม่ใช่ เมื่อสักครู่ก็พูดไปแล้ว จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สถานการณ์ในการปรับลดให้ได้ 30% นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงฯ เสร็จแล้ว จำนวน 5 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือท่าช้าง และท่าเรือสาทร โดยอีก 6 แห่ง (ท่าเตียน ท่าราชินี ท่าเกียกกาย ท่าบางโพ ท่าพระราม 7 และท่าพายัพ) คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 และมีแผนขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาท่าเรือในปี 2566- 2567 จำนวน รวม 18 ท่าเรือ รวมทั้งมีแผนติดตั้งระบบให้บริการบนท่าเรือทั้งหมด ในปี 2566 – 2567

ในส่วนของตัวเรือ ได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในการให้บริการ เพื่อลดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกมาตรฐานและปลอดภัยท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นโดยการให้บริการด้วย ระบบตั๋วร่วม การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ใช้บริการ โดยให้ความสำคัญกับความสวยงามตามอัตลักษณ์ (Landmark) และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ

ขณะเดียวกันได้กำหนดให้มีการพัฒนาสิ่งอำนวย ความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการควบคุมและการให้บริการ ตามแผนพัฒนากำหนดเป้าหมายในการพัฒนาท่าเรือ จำนวนทั้งสิ้น 29 แห่ง


ภาพ – วิชาญ โพธิ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง