KEY :
- สถานการณ์ของโลกในขณะนี้ กำลังเผชิญวิกฤติความมั่นคงทางอาหารที่ถือว่า ค่อนข้างรุนแรงมากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา
- จากปัญหาในยูเครนหลังรัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหาร ทำให้มีการคว่ำบาตร ส่งผลกระทบต่อสินค้าจำเป็นหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ผลผลิตทางการเกษตร, น้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ย เป็นต้น
- นอกจากนี้ ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั้งคลื่นความร้อน น้ำท่วม ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบหนักขึ้นไปอีก
- หลายประเทศจึงประกาศระงับการส่งออกสินค้าจำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก
- นอกนี้ ราคาสินค้าเกษตร ยังมีราคาเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาเงินเฟ้อที่สะสมต่อเนื่องมา
- ส่งผลให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย คนยากจน เข้าถึงอาหารได้น้อยลง จากราคาที่สูงขึ้น บางชนิดหายากขึ้น
- นักวิเคราห์บางส่วนแสดงความกังวลว่า โลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติความมั่นคงทางอาหาร และประชากรบนโลกจะอดอยากมากยิ่งขึ้น
…
จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการเปิดปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียต่อยูเครน ทำให้วิกฤติการณ์ด้านอาหารกำลังรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2021 ที่ผ่านมานั้น FSIN (Food Security Information Network) ได้รายงานว่า มีผู้คนเกือบ 193 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบในด้านความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 40 ล้านคน จากในปี 2020
ซึ่งสถานการณ์ในปี 2022 นั้น FSIN คาดว่า ทั่วโลกจะประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มมากขึ้น และเกิดขึ้นอย่างเแียบพลัน จากสถานการณ์ในยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น ข้าวสาลี น้ำมันพืช เป็นต้น
รวมถึงการปรับขึ้นราคาของปุ๋ย และน้ำมัน ที่จะยิ่งทำให้ราคาสินค้าทางการเกษตร และอาหาร ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากต้นทุนเหล่านี้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหามาจากสถานการณ์ยูเครน และหากยังคงยืดเยื้อต่อไป ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารรุนแรงมากขึ้นไปอีก
หลายประเทศระงับ – จำกัดการส่งออก
ผลจากการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย และการสู้รบในยูเครน ทำให้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตที่ใช้เป็นอาหารหลายชนิด ส่งผลให้ หลายประเทศที่เคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรหลายชนิด ต่างทยอยกันระงับการส่งออก เพื่อรักษาผลผลิตเหล่านั้นไว้ เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศตน
โดยในขณะนี้ราว 20 ประเทศแล้ว ที่ประกาศระงับการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวสาลี และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงในกลุ่มน้ำมันพืชต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันปาล์ม รวมถึงสินค้าเกษตรอื่น ๆ
เชื่อมโยงไปถึงกลุ่มเนื้อสัตว์ ที่ได้รับผลกระทบจากพืชอาหารสัตว์ เช่นข้าวสาลี, ข้าวโพด ที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ ถูกระงับส่งออกหรือมีราคาแพงขึ้น ทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องระงับการส่งออกเนื้อสัตว์แล้วในขณะนี้ และส่วนใหญ่เป็นการระงับการส่งออกยาวต่อเนื่องไปจนถึงสินปี
โดยรายชื่อประเทศที่มีการระงับการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหาร และผลิตผลทางการเกษตร ได้แก่
นอกจากการระงับการส่งออกแล้ว ยังมีการสั่งกำหนดให้ผู้ส่งออกจำเป็นจะต้องขออนุญาตอีกหลายประเทศ ซึ่งก็ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าเกษตร – อาหาร เช่นเดิม
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ใช้ในการจำกัดจำนวนการส่งออกอาหาร โดยการกำหนดให้ต้องมีการขออนุญาตส่งออก หรือใช้การตั้งกำแพงภาษีสำหรับการส่งออก
รัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ ยิ่งวิกฤติ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการเปิดปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียต่อยูเครน ทำให้กระแสของการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเกิดขึ้นในวงกว้าง หลายประเทศที่ดำเนินการมาตรการคว่ำบาตรเหล่านั้น ต้องจัดหาแหล่งสินค้าทดแทนจากประเทศอื่น ซึ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ของสินค้าหลายชนิดได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่
ข้าวสาลีดูจะเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนหนึ่งจากการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย, ยูเครนไม่สามารถส่งออกได้ตามปรกติ ร่วมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อปริมาณของผลผลิตข้าวสาลีในตลาดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่า ไทยจะไม่ได้ใช้ข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบของอาหารหลัก แต่ไทยต้องนำเข้าข้าวสาลีส่วนใหญ่เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์
ในขณะที่ราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น ทำให้หลายประเทศมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น และมีราคาน้ำมันเป็นตัวคูณให้ราคาสินค้าแพงขึ้นไปอีก ทำให้อาหารจะมีราคาที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หนำซ้ำ วิกฤติของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หลายประเทศเผชิญคลื่นความร้อนจนกระทบต่อผลิตทางการเกษตร เช่น อินเดีย ที่ต้องระงับการส่งออกข้าวสาลี เนื่องจากคลื่นความร้อนทำให้ผลผลิตที่ได้ลดลงอย่างมาก หรืออย่างประเทศในทวีปแอฟริกา กำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 40 ปี ในขณะที่อีกหลายประเทศกำลังเผชิญกับน้ำท่วมหนัก ส่งผลให้สินค้าเกษตรมีปริมาณที่ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้
ดังนั้นยิ่งสถานการณ์ยิ่งยืดเยื้อ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงก็จะสูงขึ้น ราคาปุ๋ยในตลาดโลกก็จะมีราคาแพงขึ้น เมื่อร่วมกับสภาพอากาศที่ปั่นป่วน ก็จะยิ่งส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง และนั่น ยิ่งทำให้ อาหารมีราคาแพงขึ้น
ความอดอยากกำลังเพิ่มสูงขึ้น
สภาพเศรษฐกิจนั้นประสบปัญหาตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกำลังดีขึ้น แต่โลกก็มาเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งจากการเปิดปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่ลงไปอีก นักวิเคราะห์หลายคนกังวลว่า “โลกกำลังเสี่ยงต่อการล่มสลายของห่วงโซ่อุปทาน” ของอาหารท
ซึ่งแม้ว่า ในขณะนี้ ห่วงโซ่อุปทานยังคงสามารถที่จะเดินหน้าไปได้ก็ตาม แต่ก็ยังส่งผลกระทบให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับผู้มีรายได้น้อย เป็นกลุ่มแรก ที่จะต้องรับสภาพกับราคาสินค้าที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิกฤติด้านความมั่นคงทางอาหารกำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลายประเทศทั่วโลกประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อต่อเนื่อง และสูงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้มีรายได้น้อย ก็จะต้องจ่ายค่าอาหารที่แพงขึ้น
ยิ่งในกลุ่มผู้ที่ยากจน นั่นยิ่งเป็นปัญหาที่จะต้องแบกรับไว้อย่างมาก เมื่อราคาค่าอาหารแพงขึ้น หลายคนจึงเลือกการลดมื้ออาหาร หรือเลือกอาหารชนิดอื่น ที่ประหยัดกว่า เพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ในขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศที่ยากจนก็จะเผชิญวิกฤติที่หนักว่า หลายประเทศโดยเฉพาะในแถบแอฟริกากำลังเผชิญปัญหาความอดอยากมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่ไทยต้องเผชิญ
สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้ว่าข้าวสาลีจะไม่ใช่ส่วนประกอบในอาหารหลักของคนไทย แต่ข้าวสาลีส่วนใหญ่ที่มีการนำเข้าในประเทศนั้น ถูกใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ ทำให้จะส่งผลกระทบต่อราคาอาหารสัตว์ที่จะทยอยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ร่วมกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อภาคขนส่ง และภาคเกษตร ที่จะทำให้มีราคาสูงขึ้น
นอกจากนี้ ราคาปุ๋ยที่ยังคงไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ก็จะทำให้สินค้าเช่นผัก ผลไม้ และอาหารอื่น ๆ มีราคาขยับสูงขึ้นตามไปด้วย
ส่วนอื่น ๆ ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานเช่น ปาล์มน้ำมัน ที่ยังคงมีราคาสูงขึ้น จากการที่อินโดนีเซียระงับการส่งออก ก็ยังคงส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มอาจจะขยับเพิ่มขึ้นไปได้อีกเช่นกัน
ที่มา
- https://www.foodsecurityportal.org/tools/COVID-19-food-trade-policy-tracker
- http://www.fightfoodcrises.net/fileadmin/user_upload/fightfoodcrises/doc/resources/GRFC_2022_FINAl_REPORT.pdf