คัดลอก URL แล้ว
‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ’ ลูกจ้างเฮ – นายจ้างจุก กับโจทย์ที่ไม่ได้ใส่แค่เพียงตัวเลข

‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ’ ลูกจ้างเฮ – นายจ้างจุก กับโจทย์ที่ไม่ได้ใส่แค่เพียงตัวเลข

KEY :

ประเด็นการ ‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ’ ถูกถกเถียงอีกครั้ง ภายหลังทางกระทรวงแรงงานนำโดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำจากเดิม 300 บาท เป็น 492 บาท

ซึ่งความคืบหน้าการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนที่คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร กำลังพิจารณาหาข้อสรุปในแต่ละพื้นที่ เพื่อรวบรวมเสนอเข้ามาส่วนกลางให้แล้วเสร็จ ในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ไม่ใช่แค่เพียงปรับตัวตัวเลขเงินรายรับให้แก่ลูกจ้างเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงในหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพของแต่ละจังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบสู่นายจ้างที่ต้องแบกรับในส่วนนี้

ย้อนดูมาตรการปรับค่าแรง 300 บาท

การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ได้เริ่มมาจากนโยบายของ ‘พรรคเพื่อไทย’ เมื่อปี 2555 ภายใต้การบริหารประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ตำแหน่งในขณะนั้น) กับนโยบายค่าแรง 300 บาท/วัน และวุฒิปริญญาตรีเงินเดือนเริ่มที่ 15,00 บาท ซึ่งมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำถึง 2 ครั้ง ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง

โดยครั้งแรกมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ใน 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ส่วนจังหวัดที่หลายปรับขึ้น 40 % จากเดิมเฉลี่ยวันละ 157 บาท

และในครั้งที่ 2 มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ทั่วประเทศ ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 7) ซึ่งมีผลประคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556

ซึ่งจากคำชี้แจงในประกาศดังกล่าว ระบุว่า จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ที่บังคับใช้ไปก่อนหน้านี้ (1 เมษายน 2555) พบว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

อีกทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อการประกอบหรือการลงทุนของภาคเอกชน ไม่ทำให้เกิดการว่างงาน การเลิกจ้าง และปิดกิจการเพิ่มมากขึ้น แต่กลับทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีกำลังซื้อมากขึ้น และมีขวัญกำลังใจในการทำงาน ส่งผลให้ผลัตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น

ค่าแรง 300 บาท ลูกจ้างเฮ – นายจ้างแบกต้นทุนเพิ่ม

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่าการปรับ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ นั้น ไม่ใช่แค่การปรับเพิ่มเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาจากหลาย ๆ ด้านรวมกัน และหาข้อสรุปตรงกลางที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในภายภาคหน้า ทั้งการปิดกิจการ เลิกจ้าง การว่างงาน ซึ่งอาจก่อให้ก่อปัญหาที่เป็นลูกโซ่ตามมา จนกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศ

จากรายงานของทางสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศ เมื่อปี 2557 ได้สรุปข้อมูลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท/วัน โดยระบุถึง ข้อดี ในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งการสํารวจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทําให้แรงงานได้รับประโยชน์โดยตรงประมาณ 3.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 29.3 ของลูกจ้างเอกชน ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาก่อสร้าง รองลงมาคือสาขาผลิตภัณฑ์อาหาร สาขาการค้า สาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม และสาขาผลิตเครื่องนุ่งห่ม

อีกทั้งช่วยให้แรงงานมีรายได้มากขึ้น มีคุณภาพ ชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เงินตราหมุนเวียนในระบบมากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น ทําให้มีเงินมาพัฒนาประเทศมากขึ้น

‘มีดีย่อมมีเสีย’ ข้อมูลจากสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าการขึ้นค่าจ้าง ขั้นต่ำเป็น 300 บาท ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคบริการ เมื่อพิจารณาค่าจ้างแรงงานที่จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น พบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก คืออุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย อุตสาหกรรมเครื่องหนัง อุตสาหกรรมผลิตไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก และเป็นภาคการผลิตที่นายจ้างจะหาแรงงานต่างด้าวมาทํางานทดแทน

ในมุมของผู้ประกอบการนั้น การขึ้นค่าจ้างทําให้ต้นทุนสูงขึ้น ต้องรับภาระมากขึ้น เช่น ค่าล่วงเวลา เงินสมทบกองทุนประกันสังคม และสวัสดิการอื่น ๆ ที่คํานวณจากฐานค่าจ้าง เมื่อพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับ ผลกระทบมากที่สุดเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น นั่นคือต้องพึ่งพาแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในสัดส่วนที่สูง และมีอัตรากําไรสุทธิต่ำ

ผลกระทบค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

นอกจากการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน สิ่งที่ตามมาอีกหนึ่งประการคือ ราคาสินค้า เมื่อต้นทุนเพิ่มสินค้าย่อมปรับตัวไปตามกลไลตลาด หากประคับประคองได้ก็อยู่รอด หากขาดทุน เจ๊ง ก็ต้องปิดกิจการ

จากตัวเลขทางการเงินของนายจ้างที่จ้างแรงงานไทย โดยจ่ายค่าจ้างต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน การขึ้นค่าจ้าง 2 รอบ คือรอบแรกในปี 2555 (1 เมษายน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ใน 7 จังหวัดนําร่อง และรอบที่สอง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 ทําให้นายจ้างมีภาระจ่ายค่าจ้างคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 930.43 ล้านบาทต่อวัน

ทางด้านหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย แสดงความกังวลต่อผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยคาดการณ์ผลกระทบในระยะสั้นต่อธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 90 ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ สําหรับในระยะยาว การขึ้นค่าจ้างจะทําให้ค่าจ้างแรงงานของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้นประเทศไทยอาจสูญเสียความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อาจทําให้ราคาสินค้าของไทยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลลบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลก และผู้ประกอบการอาจต้องปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปรับล่าสุด 1 มกราคม 2563

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นที่จังหวัดที่บังคับใช้
336 บาท/วันชลบุรี , ภูเก็ต
335 บาท/วันระยอง
331 บาท/วันกรุงเทพมหานคร , นครปฐม , นนทบุรี
ปทุมธานี , สมุทรปราการ , สมุทรสาคร
330 บาท/วันฉะเชิงเทรา
325 บาท/วันกระบี่ , ขอนแก่น , เชียงใหม่ , ตราด
นครราชสีมา , พระนครศรีอยุธยา , พังงา
ลพบุรี , สงขลา , สระบุรี
สุพรรณบุรี , สุราษฎร์ธานี
หนองคาย , อุบลราชธานี
324 บาท/วันปราจีนบุรี
323 บาท/วันกาฬสินธุ์ , จันทบุรี , นครนายก
มุกดาหาร , สกลนคร , สมุทรสงคราม
320 บาท/วันกาญจนบุรี , ชัยนาท , นครพนม , นครสวรรค์
น่าน , บึงกาฬ , บุรีรัมย์ , ประจวบคีรีขันธ์
พัทลุง , พิษณุโลก , เพชรบุรี , เพชรบูรณ์
พะเยา , ยโสธร , ร้อยเอ็ด , เลย
สระแก้ว , สุรินทร์ , อ่างทอง , อุดรธานี , อุตรดิตถ์
315 บาท/วันกําแพงเพชร , ชัยภูมิ , ชุมพร , เชียงราย
ตรัง , ตาก , นครศรีธรรมราช , พิจิตร
แพร่ , มหาสารคาม , แม่ฮ่องสอน , ระนอง
ราชบุรี , ลําปาง , ลําพูน , ศรีสะเกษ
สตูล , สิงห์บุรี , สุโขทัย
หนองบัวลําภู , อุทัยธานี , อํานาจเจริญ
313 บาท/วันนราธิวาสปัตตานี , ยะลา
***หมายเหตุ ข้อมูล ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10)

ค่าจ้าง-เงินเฟ้อ-ค่าครองชีพ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุถึง หลักเกณฑ์การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งการจะพิจารณาในแต่ละครั้งนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง พิจารณาและปรึกษาหารืออย่างรอบคอบก่อนจะได้ข้อยุติร่วมกัน

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ซึ่งการพิจารณาค่าจ้างนั้น ต้องมองถึงสภาพความเป็นจริงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งเรื่องค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มอันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบไปทั่วโลก ย้ำว่าการปรับในแต่ละครั้งต้องคำนึงหลาย ๆ ด้าน และต้องรอบคอบ ต้องมองในมุมของนายจ้างด้วยเช่นกัน หากนายจ้างอยู่ได้ ลูกจ้างพึงพอใจ ก็สามารถเดินหน้าร่วมกันได้

ไม่เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท

ดร.ทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ นำตัวแทนคณะสภาองค์การนายจ้างฯ และสมาคมนายจ้าง 40 – 50 สมาคมนายจ้าง เข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งรัดพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำตามความเป็นจริงและเหมาะสม ซึ่งไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นจาก 331 บาทเป็น 492 บาททั่วประเทศ

สภาองค์การนายจ้างฯ มีมติยังไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงนี้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ผู้ประกอบการนายจ้างบางประเภทต้องหยุดกิจการชั่วคราว แรงงานขาดแคลน ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น กลุ่มนักท่องเที่ยวยังไม่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเต็มรูปแบบ

ตลอดจนสถานการณ์สู้รบของประเทศเพื่อนบ้านและสถานการณ์ความขัดแย้งใน ยูเครน-รัสเซีย ยังไม่นิ่ง กรณีจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงขอให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดเนื่องจากสภาองค์การนายจ้าง และสมาคมนายจ้าง ยังไม่เห็นสมควรขึ้นในช่วงนี้ และเห็นสมควรให้คณะกรรมการไตรภาคี โดยฝ่ายภาครัฐเป็นผู้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เพราะมีเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นผู้นำเสนอ

ในสถานการณ์สภาวะค่าครองชีพสูงต่อเนื่อง ส่วนทางกับ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน ยังเป็นสิ่งที่ต้องทบทวนให้รอบครอบอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นทุกอย่างจะตกไปเป็นภาระของนายจ้างหรือผู้ประกอบการแทน หรือ ลูกจ้าง ก็เกิดปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายเช่นกัน ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกก็ไม่สู้ดีหนัก ในประเทศก็เกิดภาวะเงินเฟ้อ อันเนื่องมาจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง

ซึ่งต้องดูกันอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2565 ว่าท้ายที่สุดแล้ว การปรับค่าแรงขั้นต่ำจะออกมาแบบไหน จะถูกอกถูกใจทุกฝ่าย หรือ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องมานั่งช้ำ แต่กระนั้นไม่ว่าบทสรุปจะออกมาเช่นไรย่อมเกิด ผลดีและผลเสีย ตามมาเช่นกัน


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง