กรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี เร่งรัดการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกัน 492 บาททั่วประเทศ เรื่องนี้ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย บอกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยมีอยู่ 8 ระดับตามพื้นที่ หากยึดอัตราค่าจ้างในกรุงเทพฯ ที่วันละ 331 บาทมาคำนวณ จะเท่ากับว่าค่าจ้างจะปรับขึ้นวันละ 161 บาท หรือขึ้นถึง 48.6% ซึ่งเป็นอัตราที่นายจ้างรับไม่ไหว
จึงเสนอรัฐบาลให้ช่วยเหลือแรงงานเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน ในระยะสั้น 3 เดือน หรือหากจะปรับค่าแรง ก็ไม่ควรเกินจากอัตราเงินเฟ้อที่ประเมินว่าปีนี้จะอยู่ที่ 5% ซึ่งหากคำนวณกับอัตราค่าจ้างในกรุงเทพฯ จะเท่ากับปรับขึ้นมาอีกวันละ 16.50 บาท หรือไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน ถือว่าเป็นระดับที่ยังช่วยเหลือกันได้
ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยอมรับว่า ค่าแรงปัจจุบันยังค่อนข้างต่ำ และไม่ได้ปรับขึ้นมานานแล้ว ซึ่งจากปัญหาค่าครองชีพสูง ต้นทุนการผลิตแพง รัฐบาลอาจทยอยปรับค่าแรงเป็นขั้นบันได เพราะหากปรับขึ้นสูงสุดในคราวเดียวจะกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ พร้อมเสนอออกมาตรการคนละครึ่งสำหรับกลุ่มแรงงาน ที่มีรายได้ตั้งแต่ 1.5 – 2 หมื่นบาท เป็นผู้ได้รับสิทธิเท่านั้น