KEY :
- กรมปศุสัตว์ ระบุ ราคาสุกรที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า และ ต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น
- ในขณะที่สถานการณ์ของโรค ASF เริ่มคลี่คลายดีขึ้น ปัจจุบันสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว
- กรมปศุสัตว์ได้กำหนดแนวทางฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวว่าราคาหมูพุ่งอีกครั้ง โดยมีแนวโน้มราคาจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละมีการปรับขึ้นราคาจากช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกกิโลกรัมละ 5 บาท มีราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มประจำวันที่ 16 เม.ย.65 ที่กิโลกรัมละ 96-98 บาท และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ราคาสุกรมีชีวิตในประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีราคาระดับสูงที่สุดในโลก เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและจากสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ว่า
ราคาสุกรที่ปรับเพิ่มขึ้น มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากทวีปยุโรปซึ่งกำลังประสบปัญหาสภาวะสงครามในยูเครนซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารและน้ำมันที่สำคัญของโลกรวมทั้งประเทศไทย ต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนปริมาณเนื้อสุกรในตลาด
ประกอบกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นภายหลังจากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว รวมถึงปัจจัยด้านสภาพอากาศร้อนอาจทำให้สุกรเติบโตช้า ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ต่าง ๆ จะเริ่มคลี่คลายจนกว่าผลผลิตสุกรรอบใหม่จะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง และราคาเนื้อสุกรจึงจะปรับราคาลดลง
สำหรับสถานการณ์ของโรค ASF นับแต่พบการระบาดครั้งแรกในประเทศไทยในวันที่ 10 ม.ค.65 ที่ผ่านมา สถานการณ์เริ่มคลี่คลายดีขึ้น จนถึงปัจจุบันสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว โดยกรมปศุสัตว์ได้กำหนดแนวทางฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ และมีแผนการเพิ่มผลผลิตสุกรพันธุ์ดีเพื่อจำหน่ายให้แก่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต่อไป