คัดลอก URL แล้ว
9 ปี ที่รอคอยของคนกรุง กับศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2565

9 ปี ที่รอคอยของคนกรุง กับศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2565

KEY :

9 ปีที่แล้ว หรือ เมื่อปี 2556 นับได้มีว่าเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุด โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 สามารถรักษาเก้าอี้ผู้ว่าฯ ได้อีกสมัย ก่อนจะถูกปลดฟ้าผ่าด้วย ‘กฎหมายพิเศษ ม.44’ โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์ชา หัวหน้า คสช.

ซึ่งได้มีการประกาศผ่านทางราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2559 พร้อมแต่งตั้ง พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ (ตำแหน่ง ณ ขณะนั้น) ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง หรือ มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นั้น เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนกรุง เปรียบเสมือนการเลือก ‘พ่อเมือง’ เข้ามาบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ทั้งด้านการศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี ด้านสาธารณูปโภค ด้านปกป้องและบรรเทาสาธารณภัย โรคติดต่อ ส่งเสริมพัฒนา สตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ จึงไม่แปลกที่คนกรุงจะรู้สึกตื่นเต้นกับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เพราะห่างเหินจากการกาบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มายาวนานถึง 9 ปี

โดยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ ตามกำหนดการที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศไว้คือ วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งได้เปิดรับสมัครไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 65 ถึง วันที่ 3 เมษายน 65

การแต่งตั้ง-เลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ในอดีต

การแต่งตั้งตำแหน่ง ‘ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ ในอดีตถึงปัจจุบันมีทั้งการได้รับการแต่งตั้ง และการเลือกตั้งรับสมัครผู้ว่าฯ โดยแบ่งเป็นการแต่งตั้ง 9 คน ซึ่งคนแรกคือ นายชำนาญ ยุวบูรณ์ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2516 และผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งครั้งล่าสุดคือ พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559

สำหรับผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งมีทั้งสิ้น 6 คน ซึ่งเป็นผู้สมัครสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ที่สามารถส่งผู้สมัครและสามารถคว้าชัยชนะไปได้ถึง 3 คน คือ นายธรรมนูญ เทียนเงิน เป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งได้เป็นคนแรก ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2518 ถึง วันที่ 29 เมษายน 2520 / นายอภิรักษ์​ โกษะโยธิน เมื่อปี 2547-2551 และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เมื่อปี 2552-2559 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. กำหนดไว้ว่าสามารถดำรงตำแหน่งได้ 4 ปี และดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ

รายชื่อผู้ผสมัครรับเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ปี 2565

ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง รวมจำนวน 31 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครชาย 25 คน ผู้สมัครหญิง 6 คน โดยเรียงตามหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนี้

ผู้สมัครที่อายุมากที่สุด 75 ปี และอายุน้อยที่สุด 43 ปี

ส่วนผลการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 50 เขต รวมจำนวน 382 คน โดยสำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก. มากที่สุด ได้แก่ เขตดุสิต และเขตสวนหลวง จำนวน 10 คน สำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก. น้อยที่สุด จำนวน 8 เขต ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ เขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม เขตบางพลัด เขตดินแดง เขตบางซื่อ และเขตคันนายาว โดยมีผู้สมัคร จำนวน 6 คน

ผู้สมัคร ส.ก.อายุน้อยที่สุด ได้แก่ เขตลาดกระบัง อายุ 25 ปี และอายุมากที่สุด ได้แก่ เขตราชเทวี อายุ 82 ปี

จัดทำประกาศหรือแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง

โดยขอความร่วมมือผู้สมัครรับเลือกตั้งในเรื่องการปิดประกาศและการติดแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นได้ประกาศกำหนด โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความปลอดภัย ความมั่นคงแข็งแรง มีทัศนียภาพและทัศนวิสัยที่ดี ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนหรือยานพาหนะ

รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินต่อทางราชการหรือประชาชน และจะต้องไม่เป็นการกีดขวางทางสัญจร การจราจร ฯลฯ พร้อมทั้งได้แนบประกาศฉบับดังกล่าว หลักเกณฑ์และวิธีปิดประกาศและแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งของการไฟฟ้านครหลวงให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งในวันรับสมัครเลือกตั้ง เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ผลโพลคะแนนความนิยม

การเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังมาถึงนี้ เป็นสิ่งที่หลายคน โดยเฉพาะ ‘คนกรุง’ ที่จะได้มาโอกาสในการเลือกผู้ที่มีความสามารถในการเข้ามาบริหารกรุงเทพฯ หรือ ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ว่าจะคนที่ใช่ หรือ คนที่ชอบ ล้วนแล้วแต่ความชื่นชอบของแต่ละคนทั้งสิ้น ทั้งการมองถึงวิสัยทัศน์ ภาพลักษณ์ บุคคลิก การทำงานที่ผ่านมา การทำโพลในแต่ละสำนัก จึงเป็นอีกด้านหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดของคนในเมืองหลวง

ตัวอย่างผลโพลจากทาง “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “อยากได้ใคร เป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 11” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า

เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ สำนัก ที่ผลสำรวจคะแนนนิยมยังยกให้ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร และพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ตามลำดับ

ส่องนโยบายจากตัวเต็ง ผู้ว่าฯ กทม.

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ถือได้ว่าเป็นหนึ่งบุคคลที่ได้รับคะแนนความนิยมมาเป็นอันดับ 1 ในการทำโพลสำรวจของแต่ละสำนัก ซึ่งมาพร้อมกับสโลแกน มาช่วยกันทำกรุงเทพฯให้เป็นเมืองน่าอยู่ “สำหรับทุกคน” ชู 200+ นโยบายจาก 9 ด้าน

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ซึ่งทาง ดร.ชัชชาติ ได้ให้เหตุผลว่า เมืองจะน่าอยู่ได้ ต้องมีองค์ประกอบดี 9 ด้าน คือ บริหารจัดการดี ปลอดภัยดี สุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี เรียนดี เดินทางดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี สร้างสรรค์ดี เราต้องเดินหน้าพัฒนาเมืองทั้ง 9 ด้านไปพร้อมกัน ด้วยความโปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และ เดินหน้าทันที

อ่านนโยบายเพิ่มเติม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล)

“เมืองที่คนเท่ากัน” คือสโลแกน ในการหาเสียงจาก ดร.วิโรจน์ ซึ่งมองว่าที่ผ่านมาภาครัฐรวมถึงกรุงเทพมองคนไม่เท่ากัน ปัญหาของแต่ละคนจึงมีความสำคัญไม่เท่ากันตามไปด้วย พร้อมเปิด 12 นโยบายกรุงเทพ เมืองที่คนเท่ากัน

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์)

อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มาพร้อมกับสโลแกน ‘เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำ’ เสนอแนะแนวทาง 2 เปลี่ยน คือ เปลี่ยนชีวิตคนกรุงเทพฯ และ เปลี่ยนเมือง หยุดปัญหาซ้ำซาก

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์)

โดยนโยบายการ เปลี่ยนชีวิตคนกรุงเทพฯ จะเน้นการเปลี่ยนชีวิตคนกรุง อาทิ ปัญหาปากท้อง การสร้างงานสร้างเงิน โดยการจัดตั้งกองทุนในการจ้างงานภายในชุมชน โดยมี กทม. เป็นผู้สนับสนุนเงินและการจ้างงาน การติดตั้งขยายจุด Wi-Fi กว่า 1 แสนจุดทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้งเรื่องสาธารณสุข เน้นใช้ระบบการแพทย์ที่ทันสมัย และสิ่งสำคัญคือระบบการศึกษาที่ดี โรงเรียน ใกล้บ้าน

สำหรับนโยบายการ เปลี่ยนเมือง หยุดปัญหาซ้ำซาก เน้นการแก้ปัญหาจราจร ด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ (AI) การสร้างทางเท้าที่เป็นมาตรฐานสากล หรือแม้กระทั่งการสร้างเส้นทางจักรยานลอยฟ้า การแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ นโยบายแก้ปัญหา PM 2.5 โดยการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษทางอากาศและทางน้ำที่มีสิ่งก่อสร้าง รวมถึงการกำจัดขยะ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

อดีตผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 16 ซึ่งคุ้นเคยกับพื้นที่ในกรุงเทพฯ มากว่า 6 ปี มาพร้อมกับสโแกน ‘กรุงเทพฯ..ต้องไปต่อ‘ พร้อมชูนโยบาย กรุงเทพฯ 8 ต่อ ซึ่งเป็นการสานต่อนโยบายและภารกิจทั้งเรื่อง แก้ปัญหาน้ำท่วม ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมที่เหลืออยู่ จัดการระบบระบายน้ำออกจากจุดเสี่ยงอย่างรวดเร็ว, เสริมแนวตลิ่งให้มั่นคง, ลดพื้นที่การกัดเซาะแนวชายฝั่ง และมุ่งสู่เมืองปลอดน้ำท่วม

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

สร้างความสะดวกในทุกการเดินทาง เชื่อมต่อทุกการเดินทาง ทั้งถนนสายหลัก สายรอง ทางยกระดับ รองรับการขยายตัวของเมือง, เชื่อมต่อการเดิน ทางเรือ เพิ่มเรือโดยสารไฟฟ้า (EV), พัฒนาทางเดิน ทางเท้า ทางม้าลาย เดินสะดวกปลอดภัยทุกลุ่มวัย

อ่านนโยบายเพิ่มเติม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ในครั้งนี้ ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อคนกรุงอย่างมาก เพราะทุกคะแนนเสียง จะเป็นตัวสะท้อนออกมาว่า เราจะได้ผู้นำเมืองกรุงแบบไหน และเป็นการพิสูจน์ผลงานอย่างแท้จริงว่า “พูดจริง…ทำจริงหรือไม่”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง