คัดลอก URL แล้ว
เพื่อสิทธิ LGBTQ+ รัฐบาลจ่ออุ้มร่างกฎหมาย “ก้าวไกล” อีกฉบับ หลังอภิปราย #สมรสเท่าเทียม

เพื่อสิทธิ LGBTQ+ รัฐบาลจ่ออุ้มร่างกฎหมาย “ก้าวไกล” อีกฉบับ หลังอภิปราย #สมรสเท่าเทียม

วันที่ 9 ก.พ. 65 รัฐสภา ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ พ.ศ…. หรือที่รู้เรียกกันในชื่อร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยระบุว่า

ร่างนี่มีหลักการสำคัญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งมีหลายมาตราขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๗ วรรคสาม เนื่องจากเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติซึ่งปรากฏในบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งขัดต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงเสนอแก้ไข กำหนดให้บุคคล ทุกคน ได้การรับรองสิทธิต่างๆ เช่นสิทธิในเรื่องการหมั้น สิทธิในการจดทะเบียนสมรส สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม การรับบุตรบุญธรรม และในการรับมรดกจากคู่สมรส ซึ่งการแก้ไขนี้จะทำให้สิทธิบุคคลทุกคนเกิดความเท่าเทียมและได้รับการรับรอง และคุ้มครองทางกฎหมาย สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย และหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“สิ่งที่ธัญจะอธิบายต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่เรียบง่ายเป็นพื้นฐาน ของมนุษย์ทุกคน ที่เราทุกคนในสังคมต่างเข้าใจกันดี คือการที่ชายหญิงทั่วไปตัดสินใจสร้างครอบครัวและจดทะเบียนสมรส และใช้ชีวิตร่วมกันโดยมี บทบาท และหน้าที่ สิทธิ ศักดิ์ศรีและสวัสดิการ เป็นเรื่องทั่วไปที่สังคมมีความเข้าใจอยู่แล้ว

“แต่ในสิ่งที่เรียบง่ายนี้เองกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศกลับไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานในการก่อตั้งครอบครัว ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ทำให้การก่อตั้งครอบครัวของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่มี สิทธิ์ ไม่มีศักดิ์ศรีและ ไม่มีสวัสดิการ กฎหมายสมรสเท่าเทียมรจึงไม่ได้เป็นการเรียกร้องสิ่งที่ไม่มี แต่เป็นกฎหมายที่เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกพรากไปตั้งแต่แรก”

ธัญวัจน์ อภิปรายต่อว่า หลายคนอาจจะนึกไม่ออกว่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศมีปัญหาอะไรบ้างเมื่อพวกเขาไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ และบางคนมองว่สดูเหมือนก็เหมือนมีเสรีภาพอยู่แล้วในสังคมปัจจุบัน จึงขอเป็นกระบอกเสียงของคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ถูกบันทึกไว้ในสภา

“พวงเพชร เหงคำ และ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง คู่รักหญิงรักหญิง ซึ่งใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเรียบง่ายที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน มากว่า 13 ปี แต่ขณะเดียวกันก็เผชิญความทุกข์ร่วมกันจากกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ตั้งแต่การเซ็นรับรองเพื่อเข้ารับบริการรักษาพยาบาลแทนไม่ได้ ทำประกันชีวิต จะระบุให้คนรักเป็นผู้รับประโยชน์ ก็ไม่สามารถระบุได้ เพราะมักถูกเรียกหาทะเบียนสมรส
เวลาซื้อที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์

รวมถึงไม่สามารถกู้เงินร่วมกันเพื่อซื้อบ้าน ก็ไม่สามารถถือครองร่วมกันในฐานะคู่สมรส กลายเป็นซื้อแล้วถือครองกันคนละแปลง หรือพอสร้างบ้านก็กลายเป็นบ้านที่มีกรรมสิทธิ์คนเดียว ไม่สามารถถือครองทรัพย์สินใดๆ ร่วมกันในฐานะคู่สมรสเฉกเช่น ชาย-หญิง “

ธัญวัจน์ ชี้ว่า หลายคนเข้าใจผิดว่าถือครองร่วมกันได้ แต่ในความเป็นจริง คือการต้องใช้ช่องว่างทางกฎหมายซึ่งมิใช่สิทธิที่เท่าเทียม และสิ่งที่คู่รักหลากหลายทางเพศส่วนมากกังวลคือ โดยทั่วไปเมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรส เวลาที่เสียชีวิตทรัพย์สินจะถ่ายทอดไปสู่บุคคลที่มีสายเลือดใกล้ชิดที่สุด ซึ่งในชุมชนของคู่รักหลากหลายทางเพศจำนวนมากไม่ได้อยู่กับครอบครัว รวมถึงครอบครัวไม่ได้มีส่วนในทรัพย์สินที่หามาได้ ดังนั้นคนที่ควรรับทรัพย์สินเหล่านี้คือคนที่ใช้ชีวิตร่วมกัน

นอกจากนี้ ด้าน “สวัสดิการสังคม” ไปจนถึงนโยบายองค์กรที่ทำงาน ครอบครัวคู่รักหลากหลายทางเพศก็ได้รับไม่เท่ากับคนอื่นๆ เช่น บางองค์กรมีนโยบายองค์กรอาจมีนโยบายช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนบุตร มีนโยบายด้านสนับสนุนด้านค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย แต่ครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่ถูกรับรองในทางกฎหมาย จะถูกมองเป็นบุคคลมากกว่า ไม่ใช่ครอบครัวก็จะไม่ได้รับสวัสดิการเหล่านี้ หรือมียังข่าวน่าเศร้าของครูราชการผู้หญิงข้ามเพศ ‘มิกกี้’ ที่ใช้ชีวิตอยู่กับคนรักมานาน และเมื่อคนรักป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้ายก็ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากราชการได้

“จากข้อมูล LGBT Capital มีประชากร กลุ่มนี้ 4 ล้านคน และอาจมีถึง 7 ล้านคน เพราะไม่เปิดเผยตัวตน หรือข้อมูลจากรุงเทพธุรกิจก็ระบุไว้ว่า กลุ่มที่มีอายุมากกว่า ๑๕ ปี
มีจำนวน ๓.๖ ล้านคน หรือมีสัดส่วน ๕ เปอร์เซนต์ นี่คือการรอคอยของคนจำนวนมากที่วันนี้ยังไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน

“ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ พ.ศ. …เป็นปรากฎการณ์ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีผู้มาให้ความคิดเห็นในกระบวนการมาตรา ๗๗ ถึง ๕๔,๔๕๑ คน

“การแก้ไขมาตรา ๑๔๔๘
ที่เป็นการสมรสระหว่างชายหญิงเปลี่ยนเป็นระหว่างบุคคลกับบุคคลเป็นใจความสำคัญ และสอดคล้องกับหลักการยอร์คยากาตาร์ ที่เป็นแนวทางสากลว่าด้วยสิทธิมนุษย์ชน ว่าการบัญญัติกฎหมายต้องไม่มองข้ามประเด็นเพศสภาพ เพศวิถี และ อัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งหมายถึงว่า การมีระบบสองเพศในกฎหมาย ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การสร้างครอบครัวของกลุ่มนี้ และในความเป็นจริงเรื่องเพศในปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่สองเพศอย่างในอดีตที่เข้าใจ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะดำเนินชีวิตในสิ่งที่ตนเองนิยามตัวตนและวิถีทางเพศที่หลากหลาย “

ธัญวัจน์ ระบุว่า การสร้างครอบครัวของชายหญิงทั่วไปคือการสืบสายโลหิต ส่วนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสร้างครอบครัวด้วยสายสัมพันธ์และนี่คือรักที่ไม่มีเงื่อนไข นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่เราทุกคนในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ที่ใช้อำนาจจากประชาชนที่ส่งท่านมาในสภาแห่งนี้ ใช้อำนาจเพื่อให้ประชาชนมีความสุข ให้เกิดความเสมอภาค
ท่านทำได้ในวินาที ตอนนี้ ร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
ให้เกิดความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่การอภิปรายของ ธัญวัจน์ จบลง นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกนัฐมนตรีได้ลุกขึ้ขอสภารับร่างกฎหมายฉบับนี้ไปศึกษาก่อนส่งกลับคืนให้สภาพิจารณารับหลักการภายใน 60 วัน ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวถูกฝ่ายค้านลุกขึ้นมาแย้งว่า เป็นการอุ้มกฎหมายของฝ่ายค้านที่เสนอสู่สภาและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพียงเพราะต้องการถ่วงเวลาเท่านั้น ซึ่งหากนับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเป็นกฎหมายฉบับที่ 3 ที่ถูกคณะรัฐมนตรีขอมติอุ้มไปจากสภาในวันนี้ หลังจาก ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า และ ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของพรรคก้าวไกล ถูก ครม. อุ้มไปหมดแล้วก่อนหน้านี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง