วันที่ 26 ม.ค. 65 ศาลปกครองสงขลา อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.1328/2564 กรณีผู้ฟ้องคดี 3 รายได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา โดยอ้างว่ามีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพการประมงของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม จึงนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา
คดีนี้ ศาลปกครองสงขลาพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คือ กรมเจ้าท่า ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
ต่อมามีการอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งองค์คณะตุลาการได้ตรวจสำนวนและพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนที่พิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือ กรมเจ้าท่า เป็นการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นที่บริเวณปากร่องน้ำสะกอม เพื่อใช้ในการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือไม่ให้ถูกตะกอนทับถม ช่วยให้ร่องน้ำเปิด ทำให้การเดินเรือสะดวกและมีความปลอดภัย
การก่อสร้างโครงการดังกล่าวมีลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้ง มิได้เป็นการดำเนินการให้มีผืนแผ่นดินหรือพื้นดินขึ้นใหม่ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการถมที่ดินในทะเลที่อยู่ในบังคับที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456
แม้การกัดเซาะชายฝั่งทะเลจะยังคงมีอยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าเกิดจากการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือ กรมเจ้าท่า แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่อาจเกิดจากปัจจัยอื่นทางธรรมชาติประกอบด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภายหลังการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอมแล้วเสร็จ ทางกรมเจ้าท่าได้มีการติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งจากการกัดเซาะชายฝั่งทะเลซึ่งเกิดขึ้นโดยทั่วไปตลอดแนวชายฝั่ง และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณหาดสะกอม จึงเห็นได้ว่า กรมเจ้าท่า ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ดำเนินการติดตาม ฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะของชายหาดสะกอมแล้ว ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษายกฟ้อง