คัดลอก URL แล้ว
กรมปศุสัตว์ แจง ASF ยังไม่กระทบตลาดส่งออกสุกรมากนัก

กรมปศุสัตว์ แจง ASF ยังไม่กระทบตลาดส่งออกสุกรมากนัก

หลังมีการประกาศพบ ASF ในสุกรในไทยและได้รายงานไปองค์การสุขภาพสัตว์โลก หรือ OIE นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาถึงผลกระทบและเงื่อนไขในการส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ของประเทศผู้นำเข้าต่างๆ และทำตามเงื่อนไขของ OIE

ซึ่งตามระเบียบประเทศคู่ค้าและตามหลักมาตรฐานสากลพบว่า การส่งออกเนื้อสุกรดิบและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกร คาดการณ์ว่าจะไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากไทยมีตลาดส่งออกหลัก ทั้งเนื้อสุกรดิบและสุก ที่ยอมรับในการปฏิบัติตามคำแนะนำของ OIE และเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้าที่กำหนด

โดยตลาดส่งออกหลักของเนื้อสุกรดิบ คือ ฮ่องกง ส่วนเนื้อสุกรสุกหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกร ตลาดหลักคือ ญี่ปุ่นและฮ่องกง ซึ่งการส่งออกในกรณีที่ประเทศมีการระบาดของโรค ASF จะพิจารณาตามข้อแนะนำ OIE และเงื่อนไขประเทศผู้นำเข้าที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น เป็นการห้ามทั้งประเทศ หรือ ห้ามเป็นพื้นที่ หรือห้ามเป็นฟาร์ม โดยมีข้อกำหนดไว้อยู่แล้ว

เช่น บางประเทศที่ไม่ได้ห้ามนำเข้าเนื้อสุกรดิบ กรมปศุสัตว์จะอนุญาตให้ส่งออกต่อเนื่อง โดยมีการควบคุมการผลิตเนื้อสุกร ไม่ให้มีเชื้อ ASF ในสุกรปนเปื้อนในกระบวนการผลิต ส่วนเนื้อสุกรปรุงสุกจะทำลายเชื้อไวรัส ASF ในเนื้อสุกรด้วยการผ่านความร้อน 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาที

สำหรับประเทศที่กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าเป็นการเฉพาะ กรมปศุสัตว์จะเร่งเจรจากับหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่ได้กำหนดว่า การนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์แปรรูปต้องผ่านความร้อน และต้องมาจากประเทศที่ต้องปลอดจากโรค ASF ในสุกรอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนวันเชือดและวันส่งออก

สำหรับการส่งออกเนื้อสุกรดิบ และสินค้าเนื้อสุกรปรุงสุกหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกร ในปี 2565 จะพิจารณาจากท่าทีและเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้าที่จะมีการกำหนดเพิ่มเติมอย่างไร และปัจจัยอื่นๆ เช่น สถานการณ์โควิด-19 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 การส่งออกน่าจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาโดยส่งออกประมาณ 23,000 ตัน มูลค่า 3,646 ล้านบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง