กรณีการเผยแพร่คำแนะนำที่ระบุว่า การเอาเล็บนิ้วหัวแม่มือจิกตรงร่อง ระหว่างปากและใต้จมูก จะช่วยเรื่องอาการวูบ หมดสติได้ ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เป็นข้อมูลเท็จและอาจเป็นอันตรายได้ อาการวูบ หมดหรือไม่ได้สติ อาจจะเป็นอาการของคนเป็นลม หรือเป็นอาการของโรคลมชักแบบเหม่อนิ่งก็ได้
หากเป็นอาการจากโรคลมชัก ผู้ป่วยอาจจะนิ่งเหม่อ ไม่พูด ไม่ตอบ บางรายอาจจะมีอาการเคี้ยวปาก ขยำมือ หรือมีอาการตัวเกร็ง แขนขาเกร็ง หรือหากรุนแรงขึ้นก็จะมีอาการเกร็งกระตุกทั้งตัว ไม่จำเป็นต้องให้การช่วยเหลือเพื่อหยุดอาการ เพราะอาการชักจะหยุดได้เอง แค่ดูแลให้ปลอดภัยจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัว หากเป็นอาการวูบ ซึ่งมีจากหลากหลายสาเหตุ เช่น จากอาการเป็นลมทั่ว ๆ ไปที่เรารู้จัก จากภาวะหัวใจทำงานผิดปกติ ภาวะขาดออกซิเจน ภาวะสูญเสียน้ำ
การช่วยเหลือเบื้องต้นคือ การตรวจยืนยันว่าผู้ป่วยไม่ได้สติจริง ด้วยการเขย่าตัวพร้อมสอบถามอาการและพยายามให้ผู้ป่วยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศถ่ายเท ปลดหรือคลายเสื้อผ้าไม่ให้รัดแน่น จัดให้นอนราบเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปทั่วร่างกายได้ง่ายขึ้น ไม่ควรตบ ตี จิก หรือพยายามจะกระทำการรุนแรงกับร่างกายของผู้ที่มีอาการ ทั้งการจิกระหว่างปากและจมูก การตบท้องแขน การกดท้อง การล้วงปาก ระหว่างนี้ ควรตรวจสอบว่าผู้ป่วยยังหายใจปกติ คลำชีพจรว่ายังเต้นปกติหรือไม่ หากผู้ป่วยไม่หายใจหรือชีพจรหยุดเต้น ควรร้องขอให้คนช่วย เริ่มทำการช่วยฟื้นคืนชีพ ด้วยการกดหน้าอก และโทรแจ้ง 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป โดยหากอาการทั้งหมดเกิดจากการเป็นลม เมื่อเราให้การช่วยเหลือตามคำแนะนำข้างต้น ผู้ป่วยก็จะตื่นได้เองในเวลาอันรวดเร็ว การช่วยด้วยการเอาเล็บนิ้วหัวแม่มือจิกตรงร่อง ระหว่างปากและใต้จมูก แล้วผู้ป่วยฟื้นคืนสติ อาจจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้ป่วยฟื้นคืนสติได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่ควรทำเพราะอาจจะเพิ่มอันตรายและการบาดเจ็บต่อผู้ป่วยได้
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ สามารถติดตามได้ที่ www.dms.go.th หรือโทร 02 5906000
บทสรุปของเรื่องนี้ : คำแนะนำดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ การช่วยด้วยการเอาเล็บนิ้วหัวแม่มือจิกตรงร่อง ระหว่างปากและใต้จมูก แล้วผู้ป่วยฟื้นคืนสติ อาจจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้ป่วยฟื้นคืนสติได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่ควรทำเพราะอาจจะเพิ่มอันตรายและการบาดเจ็บต่อผู้ป่วยได้