คัดลอก URL แล้ว
ชื่นมื่น “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์” ทรงทักทายจับแขนอย่างเป็นกันเองกับ “บิ๊กตู่”

ชื่นมื่น “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์” ทรงทักทายจับแขนอย่างเป็นกันเองกับ “บิ๊กตู่”

วันนี้ 2 พฤศจิกายน 2564 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ องค์มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษ เจ้าชายแห่งเวลส์ แห่งสหราชอาณาจักร ทรงทักทาย อย่างเป็นกันเองและทรงจับแขน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ระหว่างงานเลี้ยงเลี้ยงรับรองสำหรับผู้นำการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ของสหราชอาณาจักรเข้าร่วมในโอกาสดังกล่าว

ทั้งนี้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงชื่นชมประเทศไทย มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องใกล้ชิดมายาวนานและจะคงพัฒนาต่อไป พร้อมทรงสอบถามถึงสถานการณ์โควิดของไทยที่สามารถบริหารจัดการด้วยดีและขอชื่นชม

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ฝากความระลึกถึงและความปรารถนาดีถึงราชวงศ์อังกฤษอีกด้วย

ด้านน.ส.ไตรศลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณคณะเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานต่างๆ ที่สนับสนุนภารกิจการเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UNFCCC: COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 31 ต.ค.-3 พ.ย. 2564 ให้ผ่านลุล่วงไปด้วยดี

“นายกรัฐมนตรีพอใจกับภาพรวมของการได้ร่วมแสดงบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศในครั้งนี้ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ไทยได้ร่วมกับนานาประเทศแสดงจุดยืน และความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน ซึ่งต้องดำเนินการหลายด้านพร้อมกัน ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การดำเนินนโยบายในระดับมหภาคเพื่อให้ภาครัฐ อุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชาชน เห็นความสำคัญของปัญหาและร่วมกันแก้ไข “น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ตลอดจนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้สิทธิประโยชน์สูงสุด ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานบีโอไอ รวมถึงสิทธิประโยชน์ของหน่วยงานต่างๆ เพื่อจูงใจการลงทุน เป็นหนึ่งในการแสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาล ในการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจของประเทศเป็นการผลิตและการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“นายกรัฐมนตรีย้ำว่าการร่วมกับนานาประเทศเพื่อลดปัญหาโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่วนของรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการจูงใจให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการมีมาตรการสร้างแรงจูงให้เอกชนลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย BCG และความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือและพลังจากภาคประชาชน ภาคเอกชนทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ ร่วมกันขับเคลื่อน”น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจการประชุมนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะเดินทางกลับจากสหราชอาณาจักร ถึงท่าอากาศยานทหาร 2(กองบิน 6) ในวันที่ 3 พ.ย. 64 เวลาประมาณ 18.40 น.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง