รองศาสตราจารย์เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายไว้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพายุเตี้ยนหมู่ จะยังไม่ส่งผลกระทบกับคนกรุงอย่างหนักเหมือนปี 2554 แต่พื้นที่ริมแม่น้ำ อาจได้รับผลกระทบบ้าง ในพื้นที่ลุ่มต่ำและนอกแนวคันกั้นน้ำ รวมถึงจังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี
ซึ่งจ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่เสี่ยงและได้รับผลกระทบจากน้ำที่ไหลมามากที่สุด โดยขณะนี้มีการปล่อยน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งน้ำจากพายุเตี้ยนหมู่ยังไม่ลงมาเติม หากมีน้ำลงมาสมทบเพิ่มเติมก็อาจทำให้ได้รับผลกระทบในพื้นที่เศรษฐกิจอย่างตัวเมืองของจังหวัด แต่พื้นที่อุตสาหกรรมได้ทำแนวกั้นน้ำป้องกันไว้แล้ว โดยคาดว่าจะมีมวลน้ำลงมาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาช่วงประมาณวันที่ 2-3 ตุลาคม
เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2554 และ 2564 อาจารย์เสรีบอกว่า ที่คล้ายกันคือ มีฝนตกบริเวณภาคกลางใต้เขื่อนหนักเหมือนกัน และปีนี้มีโอกาสตกหนักกว่าปี 2554 แต่ที่แตกต่าง คือ ฝนที่ตกในภาคเหนือแตกต่างกัน ปริมาณน้ำในอ่างก็แตกต่างกันในพื้นที่ภาคเหนือ
โดยในปี 2554 เกิดฝนตกในภาคเหนือหนักมาก ทำให้น้ำเต็มเขื่อนหลักอย่างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ในช่วง เดือนกันยายน – ตุลาคม ทำให้ต้องระบายน้ำผ่านสปิลเวย์ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ จะเป็นในลักษณะของฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ และทำให้มีการระบายนน้ำได้ช้า ไม่ใช่น้ำที่หลากและไหลเร็วจากภาคเหนือ ซึ่งปริมาณการเก็บน้ำของเขื่อนหลักภาคเหนือตอนนี้อยู่ในระดับไม่เกิน 50 %ของความจุอ่าง
อาจารย์เสรี ยังคาดการณ์ว่า ช่วงเดือนตุลาคมนี้ ประเทศไทยอาจจะเจอกับพายุอีก 1-2 ลูก จากการดูแผนที่อากาศ ซึ่งลูกแรก คาดว่าจะเกิดวันที่ 8-10 ตุลาคม ส่วนลูกที่สอง อาจต้องประเมินในสถานการณ์ที่ใกล้กว่านี้ แต่ก็เป็นการคาดการณ์ที่ภาครัฐต้องประเมินความเสี่ยง เพื่อเตรียมรับมือ หากพายุเข้ามาจริง และมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาในระดับ 3,500 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ก็คาดว่าน้ำจะท่วมในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี แต่ก็ยังไม่มาถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็จะต้องดูจากสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นด้วย
อาจารย์เสรี ยังแนะให้เฝ้าระวังแรงดันน้ำ ที่อาจทำให้อ่างเก็บน้ำเสียหาย เพราะหากพายุอีก 1-2 ลูกเข้ามา ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดแรงดันซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานพัง ซึ่งในปี 2554 ก็เกิดจากปัญหาแรงดันน้ำ ทำให้ประตูน้ำเขื่อนและถนนต่างๆพัง
สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐต้องทำช่วงนี้ มี 3 ข้อหลักๆ คือ 1.ต้องตรวจโครงสร้างพื้นฐานของเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ รวมถึงถนนต่างๆ ว่าอยู่ในสภาพที่ทนแรงดันน้ำได้หรือไม่ / 2. ต้องมีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ สามารถแจ้งเตือนประชาชนก่อนเกิดน้ำท่วม และ 3.ต้องประเมินสถานการณ์ รวมทั้งบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นตลอดเวลา