คัดลอก URL แล้ว
ศาลฎีกาพิพากษา ยกฟ้องวิศวกรฯ คดีแก๊สระเบิด ที่สำนักงานใหญ่แบงก์ไทยพาณิชย์ คนงานตาย 8 เมื่อปี 59 ชี้ไม่เป็นการกระทำโดยประมาท

ศาลฎีกาพิพากษา ยกฟ้องวิศวกรฯ คดีแก๊สระเบิด ที่สำนักงานใหญ่แบงก์ไทยพาณิชย์ คนงานตาย 8 เมื่อปี 59 ชี้ไม่เป็นการกระทำโดยประมาท

เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (23 ก ย.) ที่ห้องพิจารณา 811 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีสารเคมีระบบดับเพลิง ไพโรเจนฟุ้งกระจายจนมีผู้เสียชีวิต ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)เมื่อคืนวันที่ 13 มี.ค.2559 จนมีผู้เสียชีวิต 8 ราย และบาดเจ็บ คดีหมายเลขดำ อ.1764/2559 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 7 และครอบครัวของนายวิรัช ดีดพิณ , นายพีรพัฒน์ กอยประโคน , น.ส.กรรณิการ์ ประจิตร์ หรือสินศิริ คนงานที่เสียชีวิตระหว่างติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นาย ณ.พงษ์ สุขสงวน อายุ 49 ปี ประธานกรรมการบริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด , นายอดิศร โฟดา อายุ 55 ปี ผู้บริหาร บจก.เมก้าแพลนเน็ต , นายจิระวัฒน์ เปรมปรีดิ์ อายุ 34 ปี วิศวกรโครงการปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยของ บจก.เมก้าฯ , นายสมคิด ตันงาม อายุ 63 ปี กก.บจก.โจนส์ แลงฯ , นายสมคิด จันทร์หอม อายุ 40 ปี หัวหน้าช่าง บจก.โจนส์ แลงฯ , นายตรีภพ ยังประเสริฐกุล อายุ 41 ปี ผู้จัดการดูแลอาคาร บจก.โจนส์ แลงฯ , น.ส.ขจรจิตร พรหมดีราช อายุ 49 ปี พนักงานบริษัท เอบิต มัลติซิสเต็ม จำกัด ที่รับช่วงต่อจาก บจก.เมก้า แพลนเน็ต ควบคุมดูแลการวางท่อระบบดับเพลิงภายในอาคาร , นายบุญเสริม กระจาด อายุ 40 ปี วิศวกร บจก.เอบิต มัลติซิสเต็ม ที่คุมคนงาน , บริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด โดย นาย ณ พงษ์ สุขสงวน และนายอดิสร โฟดา กรรมการผู้มีอำนาจ , บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด โดย นายสมคิด ตันงาม กรรมการผู้มีอำนาจ เป็นจำเลยที่ 1 – 10 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390

คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2560 เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1-2 ซึ่งเป็นผู้บริหาร บจก.เมก้าฯไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่มีหน้าที่กำกับดูแล ให้บจก.เมก้าฯ จำเลยที่ 9 รักษาความปลอดภัย ขณะที่ “นายจิระวัฒน์” วิศวกรโครงการปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยของ บจก.เมก้าฯ จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้างานมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลความปลอดภัย แต่กระทำโดยประมาทไม่ปิดระบบดับเพลิงเดิม ไม่ควบคุมในที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1, 2 , 3 , 9 จึงมีความประมาทร่วมด้วยทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตขึ้น ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ 2 ปีและปรับคนละ 20,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 -3 ไม่เคยต้องโทษมาก่อน อีกทั้งความประมาทที่เกิดขึ้นในการปิดระบบดับเพลิงเดิม ก็นอกเหนือจากความสามารถของจำเลย จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยโดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้คนละ 2 ปี


ส่วน บจก.เมก้าฯ จำเลยที่ 9 ให้ปรับ 20,000 บาท และจำเลยที่ 1-3,9 ร่วมกันชดใช้เงินญาติผู้ตายที่เป็นโจทก์ร่วมด้วย 5 คน รวม 2.1 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันเกิดเหตุ 13 มี.ค.2559 ส่วนจำเลยที่ 4 – 8 และ 10 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ ยื่นอุทธรณ์


ต่อมาวันที่ 24 ก.ค. 2562 ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง นายณ.พงษ์ และนายอดิศร จำเลยที่ 1-2 และยกคำร้องที่บังคับให้จำเลยที่ 1-2 ชดเชยค่าสินไหมทดแทนด้วย ให้นายจิระวัฒน์ จำเลยที่ 3 และบริษัท เมก้าฯ จำเลยที่ 9 ชำระดอกเบี้ย แก่โจทก์ร่วมที่ 1 นับจากวันฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
พนักงานอัยการโจทก์-โจทก์ร่วม และ จำเลยที่ 3, 9 ยื่นฎีกา

โดยในวันนี้ นายจิระวัฒน์ จำเลยที่ 3 และผู้บริหาร บริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด จำนวน 2 คน ที่เป็นจำเลยที่ 9 เดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมญาติและบุคคลใกล้ชิดที่เดินทางมาร่วมให้กำลังใจ

ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า นายจิระวัฒน์ จำเลยที่ 3 วิศวกรโครงการปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยของ บจก.เมก้าฯ ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ โดยก่อนเข้าไปพื้นที่ ก็ได้มีการขออนุญาตและแจ้งให้มีการปิดระบบดับเพลิงแล้ว จากคำเบิกความของผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า ระบบไพโรเจนน่าจะเสื่อมสภาพ จำเลยที่ 3 และ จำเลยที่ 9 จึงไม่ต้องชดเชยค่าสินไหมทดแทน แก่โจทก์ร่วมที่ 1 พิพากษายกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้อง นายจิระวัฒน์ จำเลยที่ 3 และผู้บริหาร บริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด จำเลยที่ 9 ต่างมีใบหน้ายิ้มแย้มดีใจ เสร็จแล้วจึงพากันขึ้นรถเดินทางกลับไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง