คัดลอก URL แล้ว
เช็กด่วน! เปิดไทม์ไลน์ฉีดวัคซีนนักเรียน เข็มแรกเริ่ม 4 ต.ค.

เช็กด่วน! เปิดไทม์ไลน์ฉีดวัคซีนนักเรียน เข็มแรกเริ่ม 4 ต.ค.

กระทรวงศึกษาธิการเปิดแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด19 ไฟเซอร์ ให้กับนักเรียน-นักศึกษา อายุ 12-18 ปี รวมแล้ว 4 ล้านกว่าคน โดยอยู่ระหว่างการสำรวจรายชื่อ พร้อมจำนวน และจะมีประชุมทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในช่วงระหว่างวันที่ 17-22 กันยายนนี้ ซึ่งจะเริ่มฉีดเข็มแรกวันที่ 4 ตุลาคม

ข้อมูลจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ได้เปิดเผยถึงแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด19 ของไฟเซอร์ ให้กับนักเรียน-นักศึกษา อายุ 12-18 ปี ทั้งจากระบบของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสังกัดอื่นๆ รวมแล้วจำนวนประมาณ 4,350,000 คน

โดยมีไทม์ไลน์การดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน-นักศึกษา ดังนี้


17-22 ก.ย. จัดประชุมกลุ่มย่อยทำความเข้าใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้เด็กและผู้ปกครองเข้าใจ

22-24 ก.ย. แต่ละโรงเรียนจะเชิญผู้ปกครองลงนามยินยอมให้นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีน

25 ก.ย.แต่ละสถานศึกษาส่งบัญชีรายชื่อนักเรียนที่จะเข้ารับการฉีด

26 ก.ย.สรุปจำนวนตัวเลขนักเรียน นักศึกษาที่จะเข้ารับการฉีดในทุกจังหวัด

28-30 ก.ย. สาธารณสุขจังหวัดวางแผนการรับวัคซีนและกำหนดการฉีดวัคซีนรายโรงเรียน

1 ต.ค.สถานศึกษารับทราบแผนและเตรียมสถานที่ในการจัดฉีด

4 ต.ค. เริ่มการฉีดแก่นักเรียน โดยเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 จะเว้นระยะห่างประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ก็จะทันเปิดเทอม 2 ปีการศึกษา 2564 ในเดือนพฤศจิกายน

ส่วนกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา จะต้องรอดูว่าจะมีวัคซีนยี่ห้อใดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุมัติให้ฉีด แต่ก็ถืออุปสรรคต่อการเปิดเรียน เพราะยึดตามมาตรการสาธารณสุขที่บอกว่าต้องฉีดให้ครอบคลุม 70 เปอร์เซ็นต์

ส่วนกรณีที่ที่ผู้ปกครองบางส่วนมีข้อกังวลเรื่องการพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็ก ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการฉีดวัคซีนไฟเซอร์นั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลกับทีมข่าว MONO29 ว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับวัคซีนไฟเซอร์ แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับวัคซีนชนิด mRNA ชนิดอื่นๆ ด้วย โดยที่สหรัฐอเมริกา และยุโรป หลังมีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กในวงกว้าง และได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลพบว่าพบว่าเกิดขึ้นในเด็กประมาณ 60 คน จากการฉีด 1 ล้านคน ถือว่ามีจำนวนไม่มาก แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน ภาวะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากใน ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบมากในกลุ่มเด็กวัยรุ่น โดยอาการที่พบ คือ จะมีอาการแน่นๆ เจ็บหน้าอก และมีค่าเลือดผิดปกติ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

ทั้งนี้ ในส่วนของความกังวลของตัวผู้ฉีดและผู้ปกครองนั้น ถือว่าเป็นที่เข้าใจได้ เพราะเมื่อช่วงที่จะเริ่มมีการฉีดให้กับกลุ่มคนทั่วไป และผู้สูงอายุ ก็เกิดความกังวลในลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งโอกาสที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กหลังฉีดวัคซีย มีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่มากนัก และเกือบทั้งหมดสามารถหายเองได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนนั้นมีข้อดีมากกว่าการไม่ฉีดวัคซีน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง