รองศาสตราจารย์ ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงกรณีที่พระสงฆ์ 2 รูป ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กว่า หน้าที่การเผยแผ่ธรรมะเป็นหน้าที่หลักของพระสงฆ์อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันพื้นที่การเข้าถึงธรรมะเปลี่ยนไปคนเข้าวัดน้อยลง ซึ่งการที่พระสงฆ์ 2 รูปใช้แพลตฟอร์มใหม่ในการสื่อสารเผยแผ่ธรรมะ จึงเป็นเหมือนสื่อที่เข้าถึงคนสมัยใหม่ได้ดี แต่อาจจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมเรื่องเนื้อหาและท่าทีของพระสงฆ์ด้วย เห็นได้จากการที่พระชั้นผู้ใหญ่หรือสำนักพระพุทธศาสนาออกมาท้วงติงลักษณะการพูดของพระทั้ง 2 รูปว่าอาจจะไม่เหมาะสมกับเพศบรรชิต ซึ่งการใช้สื่อถือว่าพระทั้ง 2 รูปตอบโจทย์คนในยุคปัจจุบัน แต่คนไทยส่วนใหญ่อาจจะยังติดกับภาพลักษณะของพระสงฆ์ที่ต้องสำรวม สงบเสงี่ยมด้วย
ทั้งนี้จากการออกมาไลฟ์สดของพระทั้ง 2 รูป ทำให้ได้รับกระแสนิยมจนมีคนเข้ามารับชมถึง 2 แสนคนนั้น มองว่า ต้องดูว่าสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจนั้นเป็นเรื่องคอนเทนต์ธรรมะที่ได้หรือมุขตลก ซึ่งจะเห็นว่าพระสงฆ์ทั้ง 2 รูปใช้การสื่อสารที่มีมุขตลก รูปแบบการใช้ภาษาวัยรุ่น ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น แต่หากมีการแทรกธรรมะเข้าไปสอดแทรกด้วย ก็จะทำให้คนที่เหินห่างจากธรรมะเข้ามามีพื้นที่ในศาสนามากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าเป็นภิกษุอลัชชีนั้น มองว่า อาจจะเป็นคำกล่าวหาที่แรงเกินไป ซึ่งคำดังกล่าวต้องใช้กับพระที่กระทำความผิดร้ายแรง แต่กับพระสงฆ์ทั้ง 2 รูปที่ยังไม่ได้ถึงขั้นทำผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งการใช้คำว่าอลัชชีถือว่ารุนแรงเกินไป และการใช้สื่อลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้น เพราะในอดีตเคยมีพระสงฆ์ อย่างพระพยอม เคยสอนธรรมะผ่านโซเชียลมาแล้ว เพียงแต่คนในสังคมที่อาจจะยังยึดติดกับพระที่อยู่ในจารีตแบบเดิม ทำให้มองว่าการกระทำในลักษณะนี้ดูเกินงามไปบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นอลัชชี
ทั้งนี้มองว่า การออกมาเผยแผ่ธรรมะในลักษณะนี้อาจจะเป็นเพียงแค่กระแสชั่วคราวเท่านั้น เพราะพื้นฐานของหลักศาสนาพุทธคือความสงบของจิตใจ ซึ่งหากคนชอบรูปแบบนี้อาจจะแค่ดูตามกระแส แต่หากฟังแล้วคนฟังไม่ได้หลักคำสอนธรรมะที่แท้จริง ไม่ได้ความสงบ ก็จะค่อยๆ หายไปเอง