กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) โดย พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. และ พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติจับกุมผู้ต้องหาลักลอบผลิตแคปซูลยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตรวจสอบพบว่าใช้ผงบอระเพ็ดบรรจุในแคปซูลแทนผงฟ้าทะลายโจร รวมมูลค่าของกลางกว่า 400,000 บาท
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้มีผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาว่าสามารถยับยั้ง บรรเทา หรือป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ออกมาจำหน่ายให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. มีความห่วงใยในสุขภาพของพี่น้องประชาชน เกรงว่าจะได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. ตรวจสอบ สถานที่ผลิต สถานที่จำหน่ายและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพหรือผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประสานการปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย โดยสืบสวนจนทราบว่ามีผู้ลักลอบผลิตและจำหน่ายยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงได้ติดต่อขอซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 นายธนโชติ (สงวนนามสกุล) ได้นำผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร จำนวน 100 ขวด มาส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจสอบพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นจึงได้ขยายผลเข้าตรวจค้นบ้านพัก หมู่ 4 ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งใช้เป็นสถานที่ผลิตยาฟ้าทะลายโจร ตรวจพบผลิตภัณฑ์แคปซูลฟ้าทะลายโจร, แคปซูลบรรจุในซอง ยังไม่ติดฉลาก และขวดเปล่าพร้อมฝาจำนวนมาก สอบถามนายธนโชติฯ ให้การรับว่า เป็นเจ้าของบ้านและลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวจริง โดยทำมานานประมาณ 1 เดือน และเนื่องจากช่วงนี้ยาฟ้าทะลายโจรขายดี ทำให้วัตถุดิบหายาก ประกอบกับตนมีความรู้ด้านสมุนไพร รู้ว่าบอระเพ็ดมีรสขมคล้ายฟ้าทะลายโจร จึงได้นำผงบอระเพ็ดมาบรรจุลงแคปซูลแทนผงฟ้าทะลายโจร เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชน
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์แคปซูลฟ้าทะลายโจร จำนวน 450 ขวด , ผลิตภัณฑ์แคปซูลกระชายขาว จำนวน 50 ขวด, ผลิตภัณฑ์แคปซูลบรรจุผง จำนวน 29 กก., แคปซูลบรรจุผง จำนวน 60,000 แคปซูล, แคปซูลบรรจุในซอง ยังไม่ติดฉลาก จำนวน 300 ซอง, แคปซูลบรรจุในขวด ยังไม่ติดฉลาก จำนวน 460 ขวด, ขวดเปล่าพร้อมฝา จำนวน 6,000 ขวด และสติกเกอร์ฉลากผลิตภัณฑ์ นำส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสมุนไพร พ.ศ. 2562 ฐาน “ผลิตสมุนไพรปลอม” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท, ฐาน “ผลิตหรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชน อย่าเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตามคำโฆษณา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และควรเลือกซื้อจากร้านขายยาหรือร้านค้าที่เชื่อถือได้ ขอแจ้งเตือนให้ผู้ที่กำลังกระทำความผิด ลักลอบผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต หยุดการกระทำดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า ในขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร มาตุนเก็บไว้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ขาดตลาดอย่างรวดเร็ว จึงเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสนำผลิตภัณฑ์ปลอม หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานมาจำหน่าย อย. ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการซื้อ ผลิตภัณฑ์
ฟ้าทะลายโจรที่ถูกต้อง ฉลากต้องมีเลขทะเบียนตำรับสมุนไพร ขึ้นต้นด้วยอักษร “G” แนะนำว่าก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ขอให้ตรวจสอบการอนุญาตที่ www.fda.moph.go.th หรือ Oryor Smart Application เพื่อจะได้ไม่เสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน หรือผลิตภัณฑ์ปลอม และหากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดกฎหมาย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล์ 1556@fda.moph.go.th