คัดลอก URL แล้ว
นายกฯ สดุดีทีมเสี่ยงภัย

นายกฯ สดุดีทีมเสี่ยงภัย

ด้าน EnLAW ชี้ไทยไม่มี กม. คุ้มครองสุขภาพประชาชน-สิ่งแวดล้อม
.
เหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรม นับเป็นภัยที่สร้างความเสียหายและความสูญเสีย ต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่ยากจะประเมินค่า แน่นอนว่าเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หากกฎหมายและระบบตรวจสอบความปลอดภัยไม่ปรับให้รัดกุม
.
▪️ นายกฯ สั่งหน่วยงาน ช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชม.
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่ำวานนี้ (5 ก.ค. 2564) ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมให้กำลังใจให้ จนท.ที่กำลังดำเนินภารกิจเสี่ยงภัย กรณีเหตุระเบิดและไฟไหม้โรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก ใน ซ.กิ่งแก้ว 21 ระบุว่า ผมขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต คือ ‘นายกรสิทธิ์ ลาวพันธ์’ และขอสดุดีวีรกรรมของอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ทุกท่านในการเสี่ยงอันตรายเพื่อป้องกันภัยให้กับผู้อื่นในอุบัติเหตุครั้งนี้
.
นายกรัฐมนตรี เผยว่า ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ทั้งการหาที่พักชั่วคราว อาหาร รวมไปถึงการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้การเคหะแห่งชาติเตรียมจัดหาที่พัก ในรูปแบบโรงแรมทางเลือกไว้ให้ ทั้งรูปแบบราคาถูกและไม่มีค่าใช้จ่าย หากท่านใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสายด่วน พม. 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
.
▪️ ชี้ไทยต้องมี กม. คุ้มครองสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
.
ขณะที่ “มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม” หรือ EnLAW ชี้ว่า กรณีโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ นับเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่สะท้อนว่า ประเทศไทยต้องมีกฏหมาย PRTR หรือ Pollutant Release and Transfer Registers เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ผลักดันให้มีกฎหมายนี้ในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง รับรู้ ตรวจสอบ ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสารเคมีอันตรายได้
.
หากมีกฎหมาย PRTR ประชาชนจะตวจสอบได้ว่า โรงงานหรือแม้แต่ชุมชนของตนเอง มีสารมลพิษใดอยู่รอบๆ ตัวบ้าง มีการปล่อยมลพิษอะไรสู่สิ่งแวดล้อมบ้าง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควัน น้ำเสีย หรือขยะพิษ จากการที่โรงงานอุตสาหกรรม ต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษ ว่ามีการครอบครองสารมลพิษใดบ้าง และมีการปล่อยมลพิษปริมาณเท่าใด ตามรายชื่อสารมลพิษที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด และกรมควบคุมมลพิษจะต้องเปิดเผยรายงานให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงและตรวจสอบได้
.
▪️ ถูกตีคงามจาก กม.เพื่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นเกี่ยวกับการเงิน!
.
“ประชาชนสามารถเลือกที่อยู่อาศัย โดยรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากสารมลพิษรอบตัว สามารถเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น จากสารมลพิษได้อย่างปลอดภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที” EnLAW ระบุ
.
ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการยื่นเสนอร่างกฎหมาย PRTR ต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ถูกตีความว่าเป็นการเพิ่มภารกิจและหน้าที่ ให้กับกรมควบคุมมลพิษ ทำให้จากกฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จึงต้องรอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับรองก่อน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีคำตอบแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง