ในทุกความชำนาญการของศาสตร์ต่างๆ นั้น นอกเหนือจากความรู้ที่ได้สะสมมาตามระยะเวลาแล้ว ‘การฝึกฝน’ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะเป็นตัวขัดเกลาและนำเอาความรู้ดังกล่าวลงมาสู่ภาคปฏิบัติ ทำซ้ำ และย้ำจนกว่าจะเกิดเป็นความคุ้นเคย ลดทอนความผิดพลาด และพร้อมสำหรับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น
กระนั้นแล้ว ไม่ใช่ทุกการฝึกฝนจะสามารถกระทำได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม ที่ต้องมีต้นทุนด้านอุปกรณ์ ค่าบำรุงรักษา จนถึงความเสี่ยงจากอันตรายหากเกิดความผิดพลาด ที่เมื่อพิจารณาแล้ว ทำให้ไม่เกิดความคุ้มทุน หรือก่อเกิดความเสียหายที่ร้ายแรงตามมา
แต่ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ที่มาพร้อมกับตัวช่วยและทางเลือกสำหรับ ‘จำลอง’ การฝึกที่อันตราย เพื่อให้สามารถอยู่ภายใต้ปัจจัยเสมือนที่ควบคุมได้ ในต้นทุนที่ไม่สูง มีความปลอดภัย และสามารถใช้งานได้กับหลากหลายอุตสาหกรรม อันเป็นแนวคิดหลักของ ‘XRSIM’ ระบบ Augmented Reality และ Virtual Reality จากบริษัท Blue Ocean ซึ่ง คุณเพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข มุ่งหวังจะให้เป็นมาตรฐานใหม่ ที่จะช่วยยกระดับศักยภาพฝีมือแรงงานในประเทศ รวมถึงก้าวไปสู่ตลาดสากลในอนาคตได้อย่างมั่นคง
จากตลาดอสังหาริมทรัพย์ สู่ภาคการฝึกของอุตสาหกรรม
ระบบ Virtual Reality นั้น ในรอบระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้า และมีราคาในระดับที่ภาคธุรกิจสามารถจับต้องได้ รวมถึงมีการปรับใช้ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่ง Blue Ocean เองก็ไม่ใช่หน้าใหม่ แต่ได้พัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไปก่อนหน้านั้น ในภาคอสังหาริมทรัพย์
“แรกเริ่ม ผลิตภัณฑ์ของทางบริษัท Blue Ocean ถูกนำมาใช้ในงานด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ สำหรับการแสดงแบบจำลองบ้านก่อนสร้างเสร็จจริงครับ” คุณเพิ่มพงศ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งของบริษัทกล่าวถึงที่มาที่ไป
“แต่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อมีกลุ่มผู้ลงทุนจากภาคอุตสาหกรรม ได้เข้ามาสอบถามถึงความเป็นไปได้ ว่าเทคโนโลยี VR และ AR จะสามารถประยุกต์ใช้กับ ‘การฝึกอบรม’ ในส่วนที่เป็นอันตราย มีความเสี่ยง และต้นทุนสูง เช่น การควบคุมเครื่องจักร การใช้พาหนะทางการเกษตร จนถึงสถานการณ์แบบ ‘Case-Study’ ที่อาจจะไม่สามารถทำได้ในโลกความเป็นจริง นั่นคือจุดเริ่มต้นของการต่อยอดของเทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือ”
อาจจะต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การใช้เทคโนโลยีเพื่อการฝึกอบรมนั้น ไม่ใช่สิ่งใหม่ และแนวคิดเพื่อการลดต้นทุนกับอันตรายในการฝึก ก็เป็นความพยายามของภาคอุตสาหกรรมมานาน แต่คุณเพิ่มพงศ์ได้กล่าวเสริมว่า ของเดิมที่มีอยู่นั้น ยังค่อนข้างใช้ยาก และไม่ครอบคลุม
“การใช้เทคโนโลยีเพื่อการฝึกอบรมในช่วงเวลาก่อนหน้า ยังไม่ได้ครอบคลุมในส่วนของความสมจริงเหมือนการปฏิบัติในหน้างาน และมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่การเข้ามาของ VR และ AR ตอบโจทย์ตรงนี้ได้อย่างพอดีครับ”
จากหนึ่งโจทย์ สู่โอกาสทางธุรกิจ และการพัฒนาที่ตามมา
ในการทำธุรกิจ Startup นั้น สิ่งที่ดูจะเป็นปัญหาสากลซึ่งพบเห็นอยู่บ่อยครั้ง นอกเหนือจากเรื่องเงินทุนแล้ว ในส่วนของ ‘ผู้ใช้งาน’ แรกเริ่มหรือ ‘Early Adopter’ ที่มีความเชื่อมั่น ก็เป็นโจทย์ที่ยากอยู่ไม่น้อย เพราะการมาถึงของนวัตกรรมหรือแนวทางการแก้ปัญหา ไม่ใช่ทุกคนที่จะเชื่อมั่น หรือพร้อมที่จะรับนำไปใช้
แต่สำหรับ Blue Ocean นั้น คุณเพิ่มพงศ์ได้กล่าวว่า เป็นโชคดี เพราะทุกอย่างเริ่มต้นจาก ‘รายแรก’ และมีรายที่สอง สาม และสี่ตามมา
“ต้องเรียกว่าเป็นโชคดี และเป็นข้อดีของทางบริษัทครับ ที่ทางลูกค้ามีความต้องการและขอบเขตความคาดหวังที่ชัดเจน ทำให้สามารถทดลองจากหน้างานได้ โดยมีสโคปที่แน่นอน และเมื่อได้ทดสอบ ปรับปรุง และแก้ไขให้ตรงจุดที่เป็นปัญหาของผู้ใช้งาน ลูกค้ารายถัดๆ ไปก็ตามมา ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น และมีความสมจริงในการฝึกฝนมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ทางคุณเพิ่มพงศ์ก็ได้กล่าวว่า การได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ NIA Deeptech Incubation @ EEC ของทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA นับเป็นสิ่งหนึ่งที่การันตีคุณภาพ มีส่วนช่วยให้แพลทฟอร์ม XRSIM ของ Blue Ocean ไปได้ไกลกว่าที่คาดไว้มาก
“ทาง NIA ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน ทั้งด้านการเชื่อมโยงกับกลุ่มลูกค้า ผู้ลงทุน และผู้ใช้งาน ให้เราได้แสดงศักยภาพของผลิตภัณฑ์ และได้เข้าถึงความร่วมมือกับสถาบันการฝึกฝนภาคอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากๆ ถึงสองแห่งที่เยอรมนี ซึ่งทางบริษัทยังรักษาความสัมพันธ์กับ NIA เพื่อต่อยอดไปสู่ความร่วมมืออื่นๆ ในโอกาสถัดไป’
COVID-19, การเปิดรับเทคโนโลยี และการสนับสนุนจากภาครัฐ
อนึ่ง การแพร่ระบาดของ COVID-19 นับเป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้ และสร้างผลกระทบต่อทุกภาคส่วนเป็นวงกว้าง และสำหรับ Blue Ocean เอง ก็ได้รับแรงกระแทกจากจุดนี้ เนื่องด้วยเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมโดยตรง
“กระทบพอสมควรครับ ทั้งกระบวนการผลิตและสั่งซื้อที่ลดลง เพราะธุรกิจของ Blue Ocean และผลิตภัณฑ์ XRSIM นั้น เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมในอุตสาหกรรมโดยเฉพาะโรงงาน ที่มีทั้งการลดคนงาน จนถึงปิดโรงงาน แต่ทั้งนี้ ทางเราก็พยายามหาโอกาสในวิกฤติ และขยับไปยังตลาดของผู้จัดงานและออร์แกไนเซอร์ ในรูปแบบ Virtual Exhibition ซึ่งได้ผลตอบรับที่ค่อนข้างดี”
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงแนวทางที่ภาครัฐ จะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการ Startup ในอนาคต คุณเพิ่มพงศ์ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจ
“นอกเหนือจากในส่วนเงินทุนแล้ว ก็อยากให้ทางหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนโครงการช่วยเหลือต่างๆ ทั้งการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการกับนักลงทุน การให้ผู้ประกอบการได้แสดงศักยภาพ และการเปิดโอกาสให้รายใหม่ได้แสดงไอเดีย ซึ่งแนวทางในปัจจุบันนั้น ก็ยังอยากให้คงเอาไว้”
โลกแห่ง XRSIM กับการเชื่อมโยงสู่ ‘อนาคต’
ในตอนนี้ บริษัท Blue Ocean ของคุณเพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข กับผลิตภัณฑ์ XRSIM เพื่อการฝึกสอนจำลอง อยู่ในจุดที่ได้การยอมรับ ทั้งในมาตรฐานการผลิต และมาตรฐานการใช้งานในระดับสากล การันตีด้วยรางวัล Gold Award ของ Asean ICT Award แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
“ในอนาคตที่จะมาถึง ได้มองเอาไว้สองแนวทางครับ คือการพัฒนาแนวกว้าง ที่จะจับคู่กับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนา XRSIM ไปสู่การใช้งานที่มีคุณภาพสูงขึ้น และเชิงลึก คือการเชื่อมโยงเข้ากับ Deep Tech อื่นๆ เช่น AI หรือ Robotic กับ Internet of Things เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างทั่วถึง ชัดเจน และตรงจุดยิ่งขึ้น”
เพราะประสบการณ์ ได้จากการฝึกฝน และการฝึกฝนภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัย ควบคุมได้ และมีต้นทุนไม่สูง ย่อมช่วงส่งเสริมฝีมือแรงงานไทยให้ทัดเทียมระดับสากลได้อย่างแน่นอน
คติประจำใจ : “ทำสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันให้ดีที่สุด อย่างเต็มความสามารถ”
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)