ภายหลังการระบาดของโควิด ผู้คนสนใจเรื่องการติดเชื้อที่แพร่กระจายทางการหายใจกันมากขึ้น และสามโรคสำคัญที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ คือ “ไข้หวัดใหญ่” “โควิด” และ “อาร์เอสวี”
รู้จัก เชื้อไวรัสอาร์เอสวี
เชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของไข้หวัดในวัยเด็ก หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ‘โรคติดเชื้ออาร์เอสวี’ ผู้ใหญ่ก็เป็นกันได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคปอดหรือโรคหัวใจอยู่เดิม ซึ่งเมื่อติดเชื้อนี้แล้วจะมีอาการรุนแรง และในบางรายอาจทำให้โรคเดิมกำเริบจนถึงขั้นทุพพลภาพหรือเสียชีวิต เพราะปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มียารักษาโรคที่จำเพาะ แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้
การแพร่ระบาด
รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ เปิดเผยว่า ‘โรคติดเชื้ออาร์เอสวีในผู้ใหญ่’ เกิดขึ้นในระบบการหายใจทั้งส่วนบนคือจมูกและโพรงหลังจมูก และส่วนล่างคือหลอดลมลงไปจนถึงเนื้อปอด แพร่ระบาดติดต่อกันด้วยการได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจเอาละอองลอยหรือจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ที่ติดตามผิวสัมผัสโดยมีไวรัสแฝงอยู่ พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กที่ไปโรงเรียนหรือสถานรับดูแลเด็กช่วงกลางวัน ซึ่งจะเป็นแหล่งนำเชื้อกลับมาแพร่ให้กับคนในบ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุ โรคนี้แพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันและในอนาคตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พบโรคนี้มากขึ้นกว่าในอดีต
อาการของโรคจัดอยู่ในกลุ่มไข้หวัด
คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ จาม น้ำมูกไหล ในคนปกติที่ร่างกายแข็งแรง โรคนี้จะหายได้เองภายใน 3-5 วัน แต่ในผู้สูงอายุโดยเฉพาะคนที่มีโรคร่วม เชื้อจะมีการลุกลามลงไปถึงหลอดลมฝอยและถุงลมปอดได้ ทำให้เกิดอาการหายใจลำบากเพราะหลอดลมตีบจากหลอดลมฝอยอักเสบ และอาจมีอาการหอบเหนื่อยมากจากถุงลมอักเสบลุกลามไปมากจนทำให้ปอดอักเสบเป็นวงกว้าง เมื่อเกิดความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นแล้วไปพบแพทย์ช้า หรือไปพบแพทย์แล้วให้การวินิจฉัยได้แต่ก็ไม่มียาต้านไวรัสที่ได้ผลดีสำหรับรักษา จึงอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ในด้านลบที่ทุกฝ่ายไม่พึงประสงค์
“ผู้ใหญ่ทุกคนมีความเสี่ยงติดเชื้ออาร์เอสวี แต่คนทั่วไปที่แข็งแรงดี เมื่อติดเชื้อมักจะหายได้ง่ายเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ถ้าอายุมากขึ้น อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะมีโรคเรื้อรัง ที่สำคัญคือ โรคปอด โรคหัวใจ หากติดเชื้อ ก็จะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติได้ เพราะเมื่อเชื้อเข้าไปหลอดลมและปอด ทำให้โรคปอดกำเริบและกระเทือนไปถึงหัวใจที่ทำงานประสานงานกัน ทำให้กลุ่มเสี่ยงคือ คนที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปและมีโรคเรื้อรัง” รศ. นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว
การรักษาและวิธีป้องกัน RSV
แม้ว่าปัจจุบันโรคติดเชื้ออาร์เอสวีในผู้ใหญ่จะยังไม่มีการรักษาจำเพาะที่ได้ผล แต่สามารถป้องกันโรคนี้ไม่ให้ระบาดรุนแรงได้ ด้วยมาตรการเช่นเดียวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่และโควิด คือ การหมั่นล้างมือเมื่อออกไปในที่สาธารณะในช่วงที่มีการระบาด หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัดและมีการระบายอากาศไม่ดี ถ้าจำเป็น ต้องใส่หน้ากากให้แน่นหนาและถูกวิธี ถ้าเป็นหวัด ไม่ควรออกนอกบ้าน แต่ถ้าจำเป็น ให้ใช้เวลาสั้นที่สุด ใส่หน้ากากตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้อื่น นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีวัคซีนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการป้องกันโรคติดเชื้ออาร์เอสวี สามารถปรึกษาแพทย์ถึงการป้องกันที่เหมาะสมโดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคปอดและหัวใจอยู่เดิม
ขอบคุณที่มา: รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์